Media >

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับโครงการพัฒนาของภาครัฐ EEC : ชัยณรงค์ เครือนวน
freedom

Interviews

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับโครงการพัฒนาของภาครัฐ EEC : ชัยณรงค์ เครือนวน

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับโครงการพัฒนาของภาครัฐ EEC  อ.ชัยณรงค์ เครือนวน  คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม. บูรพา

จากเวทีเสวนาสาธารณะออนไลน์ New (ab)normal ทางการเมือง?? โดยเครือข่าย We Watch เวลา 14.00-16.30 น. วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563

สำหรับภาคตะวันออก ประเด็นการพัฒนา จะต้องโฟกัสที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกซึ่งจะนำเสนอ 2 ประเด็นใหญ่ คือ การทบทวนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขที่กีดกันและกดทับการทำงานของภาคประชาชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ประเด็นที่สองคือ กระบวนทัศน์การพัฒนาและการทำงานของภาคประชาชนหลังสถานการณ์โควิด ถ้าเรา จะกลับไปทบทวนการพัฒนา EEC ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนโควิด

เราจะพบว่า EEC เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้กระบวนการพัฒนาเกิดความไม่ชอบมาพากลในหลากหลายมิติ ส่วนโควิดจะมีผลอย่างไรในการกำหนดนโยบาย การตรวจสอบ การพัฒนา ผมมองโควิดใน 2 มิติที่มีผลต่อการพัฒนา คือ มิติที่เป็นวิกฤติและมิติทางโอกาสไปพร้อม ๆ กัน

ประเด็นแรก ในส่วนของ EEC ช่วงรัฐประหารหรือก่อนโควิด และโฟกัสที่เรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เราพบว่าปัญหาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนถือเป็นปัญหาสำคัญของโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ถูกดำเนินการโดยรัฐ EEC ถือเป็นตัวแบบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่ง ที่ถูกตั้งคำถามกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ของผู้คนในท้องถิ่น ถ้าเราจะเข้าใจปัญหาการมีส่วนร่วม ปัญหาการพัฒนาที่เกิดขึ้นจาก EEC เราต้องกลับไปทำความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นทั้งในเชิงกระบวนทัศน์ กลยุทธ์การพัฒนา ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การกีดกันกดทับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ถ้าเรากลับไปดูกระบวนทัศน์การพัฒนา EEC คือการพัฒนาที่ถูกบังคับให้เกิดจากส่วนกลางภายปฏิสัมพันธ์ของเครือข่ายชนชั้นนำ ทั้งชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ เทคโนแครตส่วนกลาง และเราทราบโดยทั่วไปว่า EEC เป็นจักรกลการพัฒนาที่ถูกนำมาใช้เพื่อทดแทนจักรกลการพัฒนาแบบเดิมคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ซึ่งมัน disfunction ไป ฉะนั้นอุดมการณ์ของ EEC คือการผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์แบบทุนนิยม ส่วนกลยุทธ์การพัฒนาเป็นประเด็นที่น่าสนใจ คือเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาโครงการของรัฐ

กลยุทธ์การพัฒนา EEC ใช้วิธีการต่อยอดการพัฒนามาจาก ESB หรือ Eastern Sea Board โดยใช้อำนาจพิเศษเป็นตัวเร่งการขับเคลื่อนการพัฒนา และพยายามรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจทุกอย่างไว้ที่กลไกรัฐส่วนกลาง

การต่อยอดโครงการพัฒนา Eastern Sea Board เราเห็นชัดเจน 2 รูปแบบ ใช้พื้นที่การพัฒนาเดิมของ Eastern Sea Board คือพื้นที่ของ 3 จังหวัด แต่ EEC ต่างเล็กน้อย มีการเปิดพื้นที่ใหม่คือฉะเชิงเทรา กลายเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในขณะเดียวกันก็เห็นความพยายามที่จะยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมและสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เรารู้จักในส่วน New S-Curve เป็นต้น ส่วนประเด็นการใช้อำนาจพิเศษเป็นตัวเร่งรัดให้เกิดการพัฒนา เราเห็นได้ชัดเจน คือมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยการออกคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบที่เกี่ยวข้องกับ EEC โดยตรง 3 ฉบับ และเชื่อมโยงกับการพัฒนา EEC อีก 2 ฉบับ เป้าหมายของการใช้อำนาจพิเศษในที่นี้คือ การสร้างข้อยกเว้นทางกฎหมาย เร่งรัดตัดตอนขั้นตอนตามกฎหมายปกติเพื่อทำให้ EEC ขับเคลื่อนไปด้วยความรวดเร็ว

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวของกับการพัฒนา EEC มีผลที่ทำให้เกิดการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายในเขต EEC ถึง 3 ฉบับ (1. พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 2. พรบ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และ 3. พรบ.ว่าด้วยการผังเมือง พ.ศ. 2518) ต่อมาพบว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ถูกยกเลิกไปภายหลังมีการประกาศ พรบ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเมื่อปี 61 แต่ยังคงมีบทเฉพาะกาลหลายข้อ ที่ทำให้คำสั่งของหัวหน้า คสช. บางข้อยังสามารถบังคับใช้อยู่

หากกลับมาดูเนื้อหาสาระของ พรบ. ฉบับนี้ เราจะพบว่าบทบัญญัติหรือเนื้อหาคำสั่ง คสช. หลายข้อยังคงถูกนำมาบัญญัติซ้ำอีกครั้งใน พรบ. EEC เช่น การสร้างข้อยกเว้นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การกำหนดแนวทางการร่วมทุนกับเอกชนหรือเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุน หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น

Chainarong Krueanuan

แต่ก่อน หลังรัฐประหาร เรามักพูดว่าคณะรัฐประหาร 57 ฉลาดนะ ไม่เผด็จการเหมือนสฤษดิ์ ไม่เหมือนถนอม-ประภาส ไม่เหมือนในอดีต ด้านหนึ่งเค้าทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะถ้าทำแบบนั้นก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดการต่อต้าน มรดกประชาธิปไตยมันมีอยู่ จึงไม่สามารถทำได้ อีกด้านคือการพัฒนาในเมื่อทำสิ่งนั้นไม่ได้ ทำยังไงจะควบคุมปราบปรามประชาชนให้ตัวเองสามารถปกครองได้ จึงเกิดสิ่งที่เราต้องเข้าใจ เรียกว่า การควบคุมปราบปรามหรือ repression มันมีรูปแบบใดบ้าง มีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดว่า ถ้ามันเป็นเผด็จการแล้วทำไรเราอยู่สบาย ๆ ก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหารเราก็อยู่เหมือนเดิม ไม่ได้กระทบอะไร คือการพูดแบบนี้ก็เข้าใจว่าการควบคุมปราบปรามคือการจับ คือการฆ่า คือการอุ้มหายแค่นั้น แต่จริง ๆ ความซับซ้อนทุกวันนี้คือว่า ในเมื่อการใช้กำลังแบบดิบ ๆ ไม่สามารถทำได้แล้ว การควบคุมจึงถูกพัฒนาขึ้นให้มีความซับซ้อนมากขึ้น การควบคุมปราบปรามมันรวมถึงการทำลายชื่อเสียง ทำให้เสื่อมเสีย นี่คือการที่เขาควบคุมอย่างหนึ่ง เป็นการปราบปรามอย่างหนึ่ง แต่เขาไม่ได้จับหรือทำร้าย แต่มันทำให้เสื่อมเสีย เช่น กรณีของคุณโบว์ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการสะกัดควบคุมไม่ให้คนไปเคลื่อนไหว บางคนก็อาจจะไม่เคลื่อนไหวไปเลย การเจาะเข้าถึงข้อมูล ทุกวันนี้ใช้อิเล็คโทรนิกส์ ใช้เทคโนโลยี การควบคุมปรามปรามก็มีการใช้ IO การเจาะเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ผ่านระบบ มีส่วนในการควบคุมการเคลื่อนไหว ถือว่าเป็นการปราบปรามเช่นกัน หรือแม้กระทั่งกฎหมายที่บอกว่า คุณส่งเสียงดัง ผมไม่ให้คุณชุมนุม คุณชุมนุมแล้วมันเลอะเทอะ สกปรก นี่คือ repression เหมือนกันนะ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการปราบปราม

เพราะฉะนั้นเวลาเราเคลื่อนไหวในทุกวันนี้เราต้องเข้าใจว่ากระบวนการที่เรียกว่า repression ที่รัฐใช้กับเรามันประกอบด้วยอะไรบ้าง และการปราบปรามของรัฐ แน่นอนว่าสุดท้ายรัฐเป็นคนใช้กำลัง มันไม่ได้ทำโดยหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เอกชนด้วย ตัวอย่างชัดเจนก็คือ สื่อ การศึกษาเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทุกวันนี้ เขาบอกว่าถ้าพูดถึง repression การปราบปราม จะพูดถึงรัฐอย่างเดียวไม่ได้ เอกชนมีส่วนสำคัญ บ้านเรานี่ชัดเจน การให้ข่าว ผ่านทีวี ออนไลน์ เป็นส่วนในการปูทางสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนของการปราบปราม

ในช่วงหลังการรัฐประหาร 57 จนถึงปัจจุบัน เราเห็นเค้าดำเนินสิ่งนี้ ทั้งรัฐ เอกชนดำเนินสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาเรียนรู้ นี่เป็นก่อนโควิด

ช่วงรอยต่อที่กำลังเกิดโควิด เราเห็นการเสื่อมของความชอบธรรมของรัฐบาลเผด็จการทหาร เสื่อมโดยที่ตัวเองทำ ความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่จริงเกิดขึ้นเยอะแยะในช่วงที่ผ่านมา ความไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นตัวที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ การไม่แก้ปัญหาคอรัปชั่น การเล่นการเมืองแบบไม่มีการปฏิรูปก่อน เล่นการเมืองแบบน้ำเน่า หลายอย่างทำให้เกิดความเสื่อมในตัวเค้าและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะของนักศึกษาและปัญญาชน การเคลื่อนไหวในช่วงนั้นมีอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เด่นก็คือการใช้สื่ออนไลน์ในการเคลื่อนไหว social media สามารถระดมความเห็นของคนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราเห็นในช่วงก่อนเกิดโควิด

จากนี้ไป หลังโควิด ขบวนการประชาธิปไตยจะทำอย่างไร ผมคิดว่ามันมีประเด็นสำคัญ ประเด็นแรกคือ เราต้องทำความเข้าใจว่า social media เมื่อเอามาใช้ในการต่อสู้ มันมีข้อดีและข้อจำกัดยังไง ผมเอามาจากบทเรียนของขบวนการเคลื่อนไหวในต่างประเทศที่ใช้มาก ๆ เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัฒน์ แต่จริง ๆ คนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้เค้าไม่ใช้คำนี้ คำนี้เป็นคำหลังสือพิมพ์ พวกสื่อเรียกว่าเขาต่อต้านโลกาภิวัฒน์ แต่จริงๆ เขาเรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ทางเลือก ขบวนการยุติธรรมโลก (global justice movement) ขบวนการเหล่านี้เคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ไปทำลายชีวิตความเป็นอยู่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีการเคลื่อนไหวประสานกันโดยเครือข่ายจากทวีปต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ผ่านออนไลน์ นี่ก็เป็นกระบวนการที่ใหญ่มาก

อีกขบวนการหนึ่งที่เรารู้จักกันในนามขบวนการ occupy เป็นขบวนการที่เข้าไปชุมนุมในสถานที่สาธารณะ นี่เกิดขึ้นใน 82 ประเทศ เป็นขบวนการที่ใช้ social media ในการเคลื่อนไหว บทเรียนของประเทศเหล่านี้คือ social media ประหยัด คุณจะเรียกคนเป็นแสน แฮชแท็กควายแดงกันเป็นแสนในคืนเดียว มันใช้คนคนเดียว ไม่ต้องเช่าออฟฟิซหรือมีสถานที่ ไม่ต้องลงทุนมาก นั่งอยู่บ้านคนเดียวสามารถระดมคนได้ข้ามทวีป สามารถก่อให้เกิดกระแส ระดมความรู้สึกในเวลาอันสั้นมาก สามารถทำได้แม้กระทั่งเรียกคนมารวมกัน เป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วไปว่าประสิทธิภาพมีอย่างที่สื่อแบบเก่า ๆ ไม่สามารถทำได้ มีประสิทธิภาพมาก

สื่อแบบ social media ในช่วงแรกมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ขั้นต่อไปมีปัญหา เพราะเราไม่ได้แค่สร้างกระแส ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมจะต้องมีปฏิบัติการจริง มันไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์อีกต่อไป มันต้องเป็นปฏิบัติการจริง ออนไลน์นี่มาแทนที่การที่คนมาเจอกัน มาทำงานเหมือนที่เคยทำเช่น สร้างองค์กร สร้างเครือข่าย การทำงานร่วมกันไม่ได้ ปัญหาของขบวนการสองขบวนการระดับโลกที่พูดมาคือ มันมีความสำเร็จในการสร้างประเด็น แต่พอจะปฏิบัติให้บรรลุมันไปไม่ได้ แม้กระทั่งผู้ก่อตั้งขบวนการเหล่านี้ก็ยอมรับว่านี่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นในประเทศเรา ขบวนการที่ใช้ออนไลน์ social media ทั้งหลายจะต้องมาขบคิดว่าขั้นต่อไปจะทำอย่างไร เหมือนขบวนการนักศึกษาที่เกิดขึ้นในทั่วประเทศเรา สิ่งที่พวกเขาต้องคิดต่อก็คือ แล้วเราจะมาร่วมมือกันอย่างไร เป็นประเด็นใหญ่ที่มีการถกเถียงกันค่อนข้างยาก ว่าในเมื่อจะปฏิบัติการให้บรรลุผล แล้วจะร่วมมือกันอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าหลังจากนี้ไป เราต้องคิด

อันที่สอง คาดการว่า หลังโควิด ประเทศไทยและทั่วโลกจะวิกฤติรุนแรง ประเทศไทยไม่มีทางดิ้น ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP จากส่งออก ท่องเที่ยวก็เสร็จเรียบร้อย เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ จะมีคนใหม่ ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นใหม่ ๆ โดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจ นี่เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ว่า กลุ่มคนที่เคยเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจะประสานกับกลุ่มคนที่จะออกมาใหม่ ๆ ที่จะออกมาอย่างไร ทำยังไงเราจะร้อยรัดเอาพลังเหล่านี้เข้ามาเป็นพลังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้ นี่เป็นโจทย์สำคัญที่ผมคิดว่าเราต้องเอาไปขบคิดกันครับ

Was this useful?

Thanks for your feedback

You could also be interested in

Focus

Digital Election Analytic Lab (DEAL) หรือ โครงการติดตามเเละวิเคราะห์กระบวนการเลือกตั้งในโซเชียลมีเดีย เป็นกระบวนการสืบเนื่องที่พัฒนามาจากหลักการและกรอบแนวคิดของจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ ลงนามร่วมกันโดยพรรคการเมืองจำนวน 30 พรรค

Focus

LIVE แถลงการณ์ ความเห็นต่อการเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้า-นอกเขต วันที่ 7 พ.ค. 2566 .โดยเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ปี 2566 . ณ ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ 1 สถาบันไทยคดีศึกษา ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

Interviews

“ผมรู้จักกับกลุ่ม We Watch ก่อนเลือกตั้งปี 2562 สักระยะ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งจากนักศึกษา เพื่อมาสังเกตและจับตาการเลือกตั้ง ทั้งก่อนเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ช่วงนั้นผมเรียนอยู่ ม.เกษตร ทำกิจกรรมนักศึกษาอยู่แล้ว เลยมาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของการเลือกตั้งครั้งนั้น ผมโอนสิทธิจากชุมพรมาเลือกตั้งล่วงหน้าที่กรุงเทพฯ หน่วยนั้นอยู่ใกล้กับราบ 11

Focus

เว็บลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. ล่ม คาดมีประชาชนได้รับผลกระทบนับแสน กกต. สมควรจะขยายระยะเวลาการลงทะเบียนเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหา