การเมืองไทยก่อนหน้าโควิด ปัญหาอุปสรรคและการมีส่วนร่วมของประชาชน : โดย อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเวทีเสวนาสาธารณะออนไลน์ New (ab)normal ทางการเมือง?? โดยเครือข่าย We Watch เวลา 14.00-16.30 น. วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563
สิ่งที่นำเสนอ 4 เรื่องหลัก ๆ คือ ก่อนหน้าโควิดและช่วงโควิด การเมืองไทย โดยเฉพาะการตรวจสอบโดยภาคประชาชนมีการประเมินสถานการณ์อย่างไรบ้าง ต่อทั้งรัฐในฐานะตัวแสดงทางการเมืองทั้งในระดับโลก และในประเทศไทย 2) การตอบกลับหรือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล การกดดัน การพยายามมีส่วนร่วมในการผลักดันกระบวนการทางนโยบายในประเทศอื่น ๆ และในประเทศไทยมีปัญหา อุปสรรค และความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง
ถ้าเรามองการเมืองเมื่อปลายปีที่แล้ว คิดว่าการเมืองไทยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ในแง่หนึ่งก็เป็น unpredictable year (ปีที่คาดเดาไม่ได้) เป็นปีที่การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก มีเงื่อนไขหลายอย่าง มีการเลือกตั้งและอะไรมากมายที่ทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองไทยคาดเดายากว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราแทบไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้ พรรคไหนจะโดนยุบบ้าง ไม่รู้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ของกลไลรัฐจะเป็นอย่างไร พอมาถึงช่วงปลายปีและต้นปีที่ผ่านมา โดยเเฉพาะช่วงที่โควิดเริ่มระบาด ฝั่งที่สนับสนุนประชาธิปไตยเหมือนเริ่มมีความหวังว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีขึ้น ไม่ว่าจากผลการเลือกตั้งที่พลังประชาธิปไตย หรือพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ หรือพรรคการเมืองหลายพรรคที่เป็นพรรคของคนส่วนใหญ่ในประเทศชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหาฉบับนี้ก็ตาม แต่มันก็เห็นพลัง หรือว่าต้นปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นพลังของนักศึกษาที่ก่อตัวขึ้นก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องโควิด
นอกจากนั้นก็มีความอึดอัดทางการเมืองที่เริ่มจะก่อตัวของคนที่อยู่นอกกลุ่มขบวนการนักศึกษา นอกสภา ต่อปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่พอใจต่อความชอบธรรมของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาคอรัปชั่น ปัญหากรณีต่าง ๆ มากมาย
เมื่อโควิดเข้ามา มันก็มีหลายอย่างที่ภาคประชาชนเริ่มรู้สึกว่าความชอบธรรมของรัฐบาลลดน้อยลงโดยเฉพาะที่รัฐบาลมีนโยบายในการจัดการกับโควิดแบบที่เน้นเป็น upper middle class and elite oriented คือให้ความสำคัญ ค่านิยมหรือผลประโยชน์กับคนที่มีอันจะกินในสังคม เช่น การปิดเมืองเป็นระยะเวลายาวนานเพื่อรักษาตัวเลขของผู้ติดเชื้อให้ต่ำ โดยไม่ได้สนใจต่อผลกระทบหรือสนใจไม่มากพอต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คนเปราะบางไม่สามารถจะแบกรับต้นทุนเหล่านี้ได้ ซึ่งมันสะท้อนคุณค่าของรัฐบาลว่า เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางการเมืองและสุขภาพมากกว่าผลกระทบที่ตามมาต่อชนชั้นและกลุ่มอื่น ๆ การกระทำแบบนี้ของรัฐบาลอาจนำมาซึ่งความไม่พอใจ การชุมนุมประท้วงหน้ากระทรวงการคลัง ทำให้หลายคนคิดว่าอาจมีกระแสที่ลุกขึ้นมาประเมิน ตรวจสอบรัฐบาลที่อาจเติบโตมากขึ้น หรือหลายคนประเมินว่ารัฐบาลอาจไม่รอดแน่ ๆ เพราะว่าไม่สามารถจัดการกับวิกฤติที่ท้าทายอย่างโควิดได้
นี่เป็นชุดความคิดหรือการมองการเมืองไทยแบบหนึ่งก่อนที่เราจะมายืนอยู่ในวันนี้ ลองมาดูกันว่าทั่วโลกเขาประเมินเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง จึงอยากลองชวนไปดูกันว่าทั่วโลก เวลามองเรื่องประชาธิปไตย เผด็จการ ความสามารถของรัฐ ความชอบธรรม และความสัมพันธ์ของรัฐกับภาคประชาชนในท่ามกลางภาวะโควิดมันมีการประเมินอย่างไรบ้าง
คำถามใหญ่หลายคำถามที่หลายงานวิจารณ์ทางการเมืองหลายชิ้นพยายามถามคือระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยและเผด็จการ อะไรจะจัดการโควิดได้ดีกว่ากัน หลายคนยกตัวอย่าง เช่น จีน บอกว่าเป็นรัฐเผด็จการจึงประสบความสำเร็จในการจัดการ หรือบอกว่าประเทศในยุโรปที่เป็นประเทศประชาธิปไตย ไม่สามารถจัดการกับโควิดได้ มีคนตั้งคำถามประเด็นนี้กับประชาธิปไตย กับเผด็จการ ว่ารัฐแบบไหนสามารถจัดการกับโควิดได้มากกว่ากัน ซึ่งก็มีนักวิชาการหลายฝ่ายที่ออกมาโต้แย้งว่า จริง ๆ แล้ว ถ้าเราจะเข้าในเรื่องนี้ มันไม่ใช่การจะต้องมาดูว่าระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตย แต่มันเป็นเรื่องของ state capacity หรือ ความสามารถของรัฐในการจัดการ เพราะในความเป็นจริง รัฐที่เผด็จการหลายรัฐก็ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาโควิดได้ เราก็เห็นรัฐทหารหลายที่อยากตะวันออกกลางหลายที่ ก็ไม่สามารถจัดการกับโควิด หรือประเทศประชาธิปไตยอย่างเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น หรือไต้หวันก็ประสบความสำเร็จกับการจัดการโควิด
เพราะฉะนั้น การจะทำความเข้าใจว่ารัฐกับความชอบธรรมของรัฐกับความสัมพันธ์กับภาคประชาชน จะต้องเข้าใจอะไรที่ซับซ้อนไปมากกว่าการพูดถึงว่า เราโจตีประชาธิปไตย หรือหลายฝ่ายหันไปเชิดชูเผด็จการในฐานะรัฐขนาดใหญ่ที่สามารถจัดการกับโควิดได้
งานจำนวนหนึ่งพยายามอธิบายว่า ถ้าเรามาโฟกัสที่ประเทศเช่นใน Southeast Asia มีหลายประเทศที่มีรัฐบาลที่มีแนวโน้มเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม autocratic states ซึ่งตอนช่วงต้นโควิดมีงานวิจารณ์ ข่าวการเมืองหลายชิ้นพยายามอธิบายว่าโควิดจะเป็นกลไลที่ลดทอนหรือท้าทายความชอบธรรมของรัฐ autocratic state ใน Southeast Asia เพราะรัฐที่ค่อนข้างอำนาจนิยมเผด็จการ รัฐเหล่านี้ที่อยู่ใน Southeast Asia ความชอบธรรมของรัฐมาจากความสามารถในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม พม่า หรือไทย รัฐจะมีความชอบธรรมและไม่ถูกท้าท้ายได้ก็ต่อเมื่อรัฐสามารถ maintain ความชอบธรรมทางด้านเศรษฐกิจได้ ถึงแม้ว่ารัฐใน Southeast Asia จะสามารถแก้ปัญหาโควิดได้ แต่สิ่งที่จะตามมาหลังโควิดคือประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีข่าวมากมายถึงการประมาณการเศรษฐกิจหลังโควิด จะนำมาซึ่งการตกต่ำลงทางเศรษฐกิจในหลายประเทศใน Southeast Asia หรือในทั่วโลก
มีแนวโน้มว่ารัฐอำนาจนิยมรวมทั้งไทยจะไม่สามารถจัดการกับความซับซ้อนที่พันกันอยู่ระหว่างปัญหาโควิดที่เค้าอาจจะจัดการได้กับปัญหาทางเศรษฐกิจ ข่าวที่พูดถึงการเมืองในกระแสโลกและ Southeast Asia ซึ่งลองกลับมาดูการเมืองไทย จะลองประเมินดูว่าเมืองไทยเป็นไปในแบบที่การวิจารณ์หรือข้อสรุปแบบนี้หรือเปล่า
การเมืองไทย การประเมินในช่วงต้นก่อนเข้าสู่ยุคโควิดในระยะช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. มีงานจำนวนมากที่อธิบายว่ารัฐบาลไทยคงต้องเผชิญกับเรื่องความชอบธรรมแน่ ๆ ไม่ว่าเป็นความล้มเหลวในการจัดการโควิด เช่น กรณีค่ายมวย หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปัญหาแรงงาน คิดว่ารัฐไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากมาก ๆ กลไกของรัฐบาลไทยที่งานศึกษาอธิบายมาโดยตลอดว่าว่ารัฐไทยเป็น fragmented state เป็นรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน จากการศึกษากรณีก่อนหน้านี้ เช่น ปัญหาน้ำท่วม หมอกควัน รัฐไทยไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นหลายคนก็คิดว่ารัฐไทยจะต้องประสบความล้มเหลวแน่ ๆ โดยเฉพาะภายใต้การนำของรัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งไม่น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่หลังเหตุการณ์ผ่านไปประมาณ 2 เดือน โดยเฉพาะตอนนี้เราอยู่ที่ต้นเดือนมิถุนายน สิ่งที่เราเห็นเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ตัวเลขศูนย์ของคน ที่ติดต่อกันมาเป็นอาทิตย์ เดือนสองอาทิตย์แล้ว มันสะท้อนอะไร เราจะเข้าในมันอย่างไรว่ารัฐที่เราเคยบอกว่า เป็ณรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นรัฐที่นำโดยผู้นำจากกองทัพและไม่มีประสบการณ์ทางด้านนโยบาย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาวิกฤติ สถานการณ์ที่ซับซ้อนอย่างโควิด มันจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร
ปรากฎการณ์ที่เห็น รัฐบาลนี้ยังสามารถรักษาความชอบธรรมได้ในระยะสั้น มี 4 เรื่องที่อยากจะพูดในจุดนี้คือ
ประเด็นที่1 ประสบความสำเร็จในการจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อ ถ้าดูแล้ว ที่มาของความสำเร็จมันมีคำอธิบายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงความสามารถใน การทำงานของกระทรวงสาธารณสุข หรือการทำงานของ อสม. แต่ดิฉันอยากลองมองอีกมิติหนึ่งว่า จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เพียงแค่การพูดถึงความสำเร็จของกลไกรัฐเท่านั้น แต่ความสำเร็จนี้สะท้อนหลายอย่างที่เป็นผลที่ตามมาของพัฒนาการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับภาคประชาชนในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา จริง ๆ แล้วมันเป็นความสำเร็จของการเติบโตของการเมืองภาคประชาชนที่ทำงานร่วมกับรัฐ มันเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ภายใต้การเติบโตขึ้นของรัฐ พยายามจะสร้างความสัมพันธ์ ไม่ว่าคุณจะมองว่าเป็นการ cooptation หรือ collaboration ก็ตาม การเมืองในชนบทและในท้องถิ่น คุณจะเห็นว่าการทำงานของ อสม. จริง ๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุขแต่มันเป็นความตื่นตัวของความต้องการที่จะอยากมีส่วนร่วมในการทำงานของกลไกรัฐของคนในท้องถิ่นด้วย หรืออีกด้านหนึ่งคุณอาจมองว่ามันเป็นความสำเร็จของรัฐไทยในการดึงคนในระดับรากหญ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐเพื่อทำงานและสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐ ในแง่นี้ ดิฉันคิดว่ามันต้องทำความเข้าใจ รัฐไทยหรือรัฐบาลชุดนี้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาได้ไม่ใช่เพราะตัวรัฐบาลเอง แต่เป็นประวัติศาสตร์ยาวนานของการทำงานร่วมกันระหว่างคนในชนบทกับกระทรวงสาธารณะสุขที่มีนโยบายและความพยายามในการที่จะดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากรัฐไทยไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการจัดสรรทรัพยากรด้านสาธารณสุขลงไปในท้องถิ่นทุกท้องที่ เราไม่ได้ GP ไม่มีหมอที่อยู่ในทุกหมู่บ้าน เหมือนในหลายประเทศในยุโรป เราไม่มีหมอที่จะลงไปในหมู่บ้านแต่การให้มีอาสาสมัครในหมู่บ้านละ 6-8 คนและจ่ายเงินในระดับที่น้อยมาก มันเป็นความสำเร็จของรัฐไทยในการ coopt กลไก คน หรือทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อทำให้รัฐประสบความสำเร็จในการทำงาน ความสำเร็จครั้งนี้ในการจัดการกับโควิด โดยเฉพาะการมอนิเตอร์การจัดการโควิดในท้องถิ่น มันสะท้อนเรื่องนี้มาก ๆ ในระยะสั้น ความสำเร็จอันนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง มันไม่ได้สะท้อนความสำเร็จของรัฐบาล แต่มันสะท้อนถึงเราต้องเข้าใจพัฒนาการของความสัมพันธืระหว่างรัฐและประชาชน ที่พัฒนามาในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา
ประเด็นที่ 2 ที่จะบอกว่าทำไมรัฐบาลถึงยังรักษาความชอบธรรมในระยะสั้นได้ก็คือ การกำจัดฝ่ายค้านไปหมดก่อนที่จะมีโควิดทั้งในและนอกสภา คือถ้าในสภา เราจำกรณีที่เกิดขึ้นทั้งในปลายปีและต้นปีว่า รัฐบาลชุดนี้ประสบความสำเร็จในการจัดการพรรคขนาดใหญ่ เช่น ไทยรักไทย ด้วยรัฐธรรมนูญชุดนี้ เป็นพรรคที่ได้รับเสียงเลือกตั้งมากที่สุดแต่ก็ไม่ได้เป็นผู้นำรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ทำให้พรรคขนาดใหญ่ซึ่งเคยเป็นพรรคของชนชั้นกลางก็ไม่มีบทบาทอีกแล้วในการลุกขึ้นมาท้าทาย ตั้งคำถาม หรือแม้จะเป็นฝ่ายค้านในแนวร่วมรัฐบาลก็ไม่มีความสามารถในการทำ การยุบพรรคอนาคตใหม่ในช่วงปลายปี ต้นปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าก่อนที่จะมีโควิด รัฐบาลได้จัดการกับพรรคฝ่ายค้านในสภาไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างที่สองก็คือพลังของฝ่ายค้านนอกสภา อันนี้ไม่ต้องพูดถึงพลังของมวลชนพี่น้องเสื้อแดงนะที่ก็ถูกปราบและถูกไปเยี่ยมเยียนตลอดเวลานับตั้งแต่หลังรัฐประหาร เราก็คิดว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการจัดการเสียงแตกต่างที่เคยเป็นมวลชนขนาดใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้
ประเด็นที่ 3 คือ มาตรการการจัดการทางสังคมผ่านการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ หรือ coercive state การใช้กลไกทางกฎหมายในการจัดการ ผนวกกับกฎหมายที่ใช้ในจัดการกับโรคระบาด ทั้งสองอันมันผนวกกัน ถ้าในอดีตเวลาเกิดวิกฤติหรือปัญหาอะไรขึ้น เราจะเห็นคนบนท้องถนนทันที แต่ครั้งนี้มันไม่เป็นแบบนั้น มีเงื่อนไขพิเศษที่ทำให้รัฐสามารถใช้อำนาจและกลไลทางการเมืองและทางกฎหมายในการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการลุกขึ้นมาของพลังในการตรวจสอบ
ประเด็นที่ 4 การ cooptation ระหว่างภาคประชาชนและกลไกรัฐ ซึ่งมีหลายเรื่องที่เชื่อมกันอยู่ ตัวอย่างแรก เรื่องความสำเร็จของกระทรวงสาธารณะสุขหรือรัฐในการดึงกลไกในระดับท้องถิ่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกกระทรวงสาธารณะสุข อย่างที่สองที่น่าสนใจคือ หลายประเทศถ้าอยู่ในช่วงวิกฤติ มันอาจจะมีความพยายามนึกถึงการนำเสนออะไรที่มัน radical ทางเลือก แต่ในสังคมไทย เราเห็นตามประวัติศาสตร์มาโดยตลอดว่า วัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นอนุรักษ์ของไทยมันง่ายต่อการที่รัฐจะโปรโมทความสงบสุขและความมั่นคงทางการเมือง มันเป็นเงื่อนไข กลไกที่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งเมื่อสังคมไทยต้องเผชิญกับวิกฤติการ
นอกจากนั้น อีกประเด็นที่คิดว่าอยากจะทิ้งไว้ให้คิดกันต่อคือ
ความสำเร็จของรัฐของกระบวนการต่อต้านทักษิณ กระบวนการอนุรักษ์นิยมก่อนหน้านี้ ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนให้ apolitical middle class หรือ ชนชั้นกลางที่ไม่สนใจหรือเพิกเฉยต่อการเมืองกลายเป็นพลังอนุรักษ์นิยมและนิยมอำนาจ หรืออำนาจนิยมในห้วง 10 กว่าปีก่อนที่จะมีรัฐประหาร ความสำเร็จของขบวนการต่อต้านทักษิณทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจการเมืองตื่นตัวทางการเมืองแต่ไม่ใช่เป็นการตื่นตัวทางการเมืองแบบเสรีนิยม แต่ในฐานะกลไลสำคัญที่จะสนับสนุนพลังรัฐที่นิยมการใช้อำนาจ และส่งเสริมแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม

นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่าเรากำลังเผชิญอะไรอยู่ในฐานะภาคประชาชน นั่นคือสิ่งที่ดิฉันเห็นในระยะสั้น ท่ามกลางความสำเร็จของตัวเลขศูนย์ที่เราเห็นกันติดต่อกัน แต่ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว รัฐบาลจะต้องเจอกัน new normal politics คือการเมืองใหม่ที่เค้าไม่สามารถที่จะต้านทานได้ ดิฉันเห็นภาพ 3 ภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ
1. คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะตื่นตัวทางการเมืองหลังจากโควิด ค่อย ๆ ได้รับการแก้ไขปัญหาไป คน generation ใหม่ที่กำลังจะตกงานทันทีหลังจบในปีนี้ และคน generation ใหม่ที่จะจบในปีหน้าและไม่มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นพลังที่จะท้าทายอำนาจของรัฐบาลในอนาคตแต่ยังไม่ใช่ตอนนี้
2. คนจนในเมืองที่ไม่มีชนบทและภาคเกษตรรองรับเหมือนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 พลังเหล่านี้จะตื่นขึ้นมายังไง จะเปลี่ยนรูปแบบยังไง เค้าไม่สามารถเคลื่อนไหวภายใต้การ organize แบบคนเสื้อแดงในอดีต พลังเหล่านี้ที่คนชนชั้นกลางระดับล่างในอดีตที่กลายเป็นคนจนไปแล้ว คนเหล่านี้จะเป็นพลังลุกขึ้นมาท้าทายและสร้าง new normal ทางการเมืองใหม่ ในช่วงอีก 1-2 ปีข้างหน้าอย่างไร
3. พลังอดีตกองเชียร์รัฐบาลทหาร ซึ่งดิฉันก็ยังรู้สึกว่าเป็นพลังที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างยากและช้า ท่ามกลางความสำเร็จของรัฐที่จะทำให้รู้สึกว่า ผีทักษิณยังอยู่ พลังของคนเสื้อแดงยังอยู่ พวกคุณยังจะต้องช่วยในการรักษาอำนาจของผู้นำในปัจจุบัน นี่คือภาพในระยะยาวที่เราเห็น
ทางออกสำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคม
หากใครที่สนใจทางเลือกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองท่ามกลางวิกฤติการโควิด อยากให้ลองเข้าไปดูเว็บไซต์จำนวนมากที่น่าสนใจ รวบรวมชุดประสบการณ์และตัวอย่างของ social movement หรือขบวนการทางการเมืองในช่วงยุคโควิด มีตัวอย่างของหลายประเทศ ทั้งการสัมมนาออนไลน์ที่พยายามชวนเพื่อน ๆ จากทั่วทุกมุมโลกที่มีประสบการณ์ไนการผลักดันการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้การล็อคดาวน์ มี innovation ทางการเมืองมากมายที่พวกเขาพยายามนำเสนอ หากใครสนใจ สามารถเข้าดูในลิงค์ (ในสไลด์นำเสนอ)
ขอหยิบยกมาจาก 1 งานศึกษา ที่คิดว่าน่าสนใจและสามารถนำไปเป็นแนวทางในการค่อย ๆ คิดว่า ในฐานะคนธรรมดา ภายใต้ยุคโควิด เรามีส่วนร่วมทางการเมืองอะไรได้บ้าง บทความของ Moha ที่ศึกษารวบรวมชุดประสบการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกและพยายามนำเสนอว่าอะไรคือทางเลือกในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบ้าง มีข้อเสนอ 4 ประเด็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำกันอยู่แม้จะไม่ใช่ช่วงโควิดก็ตาม เพราะบางทีเราอาจคิดว่าเราสามารถที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านออนไลน์ได้ การระดมมวลชน หรือการระดมรายชื่อเพื่อต่อต้านรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงมีข้อจำกัดเยอะมาก
Moha เสนอ 4 เรื่องที่น่าสนใจ ก็คือ
1. คนที่สนใจเรื่องประชาธิปไตยควรสร้างช่องทางใหม่ ๆ ให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีพื้นที่ในการพูดเรื่องของตัวเองผ่านสื่อทางเลือกมากขึ้น เพราะในอดีต ประเด็นคือ เราสามารถไปหาเค้าได้ มันมีนักข่าวพลเมือง แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจริง ๆ หรือนโยบายของรัฐอยู่ในพื้นที่ที่เราเข้าไม่ถึง ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เราสามารถเป็นตัวเชื่อมและขยายพื้นที่ให้เค้ามีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น
2. การจัดทำนโยบายทางเลือกคู่ขนานไปพร้อมกับการตรวจสอบและกดดันรัฐบาล
3. จัดตั้งรัฐบาลเงาโดยมีผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ด้านและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้ามาช่วยกันสร้างรัฐบาลเงาที่ทำงานและตรวจสอบรัฐบาล พร้อมกับนำเสนอนโยบายด้วย
4. การพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของคนในวงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลายและสนุกสนานมากขึ้น
นี่เป็นข้อเสนอที่สนุกและง่ายที่จะทำให้เราเห็นว่าในท่ามกลางยุคโควิดนี้เราจะมีส่วนร่วมทางการเมืองกันได้อย่างไรบ้าง