
วันเลือกตั้งเป็นวันที่ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอคอย เพื่ออกไปใช้สิทธิให้แก่ผู้สมัครฯ หรือพรรคที่ตัวเองชอบ โดยสำหรับคนที่ไม่ได้มีความพิการทางด้านต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีความซับซ้อนมาก สำหรับการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพียงแค่เข้าคูหาไปกาให้ตรงช่อง หย่อนบัตร ก็เป็นอันเสร็จกระบวนการ
.
แต่สำหรับคนพิการ เช่น คนพิการทางด้านสายตา อาจจะไม่ได้สะดวกเช่นเดียวกับคนที่ไม่ได้มีความพิการ และจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ช่วย เพื่อให้การเลือกตั้งนั้นตรงไปตามเจตนารมณ์ จึงเกิดเป็นอุปกรณ์ที่มีชื่อ “บัตรทาบ” ขึ้นมา
.
บัตรทาบคืออะไร ใช้งานอย่างไร?
.
บัตรทาบคืออุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการทางด้านสายตา โดยจะมีหน้าตาคล้ายคลึงกับบัตรเลือกตั้ง นั่นคือ มีช่องสำหรับกากบาท และ มีหมายเลขระบุตัวตนของพรรคต่างๆ ซึ่งหมายเลขต่างๆ บนบัตรจะเป็นอักษรเบรลล์ เพื่อให้คนพิการทางด้านสายตา สามารถรับรู้ตำแหน่งช่องหมายเลขต่างๆ บนบัตรเลือกตั้งผ่านการสัมผัส เปรียบเสมือนใบนำทาง
.
เมื่อคนพิการทางด้านการมองเห็นเข้าไปในคูหาเลือกตั้งแล้ว จะได้รับบัตรเลือกตั้ง และ บัตรทาบ จากเจ้าหน้าที่ กปน. โดยเจ้าหน้าที่ กปน. จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการด้านสายตา ในการทาบบัตรให้ตรงกับบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้คนพิการด้านสายตาได้ใช้สิทธิได้อย่างสะดวก
.
แต่ปัญหาในปัจจุบันเนื่องจากบัตรทาบวัสดุส่วนใหญ่เป็น กระดาษ หรือ พลาสติก และไม่ได้มีตัวล็อกระหว่างบัตรเลือกตั้ง กับ บัตรทาบ ส่งผลให้เมื่อทาบบัตรลงไปบนบัตรเลือกตั้งเพื่อทำการกากบาท อาจจะส่งผลให้มีการคลาดเคลื่อนของบัตรทาบได้ ซึ่งจะทำให้คนพิการทางด้านสายตากากบาทผิดช่อง หรือ บัตรนั้นกลายเป็นบัตรเสียได้
.
ความสำคัญของบัตรทาบจึงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ และเป็นหน้าที่ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องจัดเตรียมให้พร้อม
.
รูปภาพบัตรทาบ
ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง และบัตรทาบสำหรับผู้พิการทางสายตา ในการ #เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 3 มีนานี้ค่ะ pic.twitter.com/GGvQSmQSSY
— กรุงเทพมหานคร (@pr_bangkok) February 21, 2013
—————————————
ร่วมเป็นอาสาสมัคร We Watch สังเกตการณ์วันเลือกตั้ง (1 วัน)
ได้ที่ https://www.electionwatchth.org/volunteer-signup
และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ line oa : @wewatchthailand หรือคลิกที่นี่ https://lin.ee/f2vj106
.
มาเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมจับตาเลือกตั้งไปกับพวกเรา
#จับตาเลือกตั้ง2566#เลือกตั้ง66#อาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง#wewatch