
จนถึงปัจจุบันสังคมไทยยังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด – 19 ส่งผลให้หลายภาคส่วนต้องทบทวนและแสวงหาหนทางรับมืออย่างจริงจัง ภายใต้ตรรกะของความอยู่รอดปลอดภัยของมนุษย์และสังคม
อย่างไรก็ดี การแสวงหาหนทางในการแก้ไขในสถานการณ์ดังกล่าว มีความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ควรทำความเข้าใจ คือ การนำเสนอข้อมูล/ข้อเท็จจริงของสถานการณ์การระบาด การทำความเข้าใจผลกระทบและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน รวมถึงวิธีการรับมืออย่างหลากหลายและเข้าถึงคนทุกกลุ่มหรือทุกระดับ
รายงานการสำรวจนี้มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้ข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ ด้วยกระบวนการสอบถามและรับฟังเพื่อทำความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ และผลกระทบที่คนในสังคมได้รับ ภายใต้แนวคิดว่า วิธีการช่วยเหลือที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการมอบวัตถุให้ คือ การรับฟังผู้ที่เผชิญกับผลระทบและความเสี่ยงโดยตรง ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญในการเยียวยาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเป็นวิธีการพื้นฐานที่ทุกคนสามารถทำได้ นอกจากนั้นยังจะทำการติดตามบทบาทของผู้แทนทางการเมืองในพื้นที่ระหว่างช่วงโควิด – 19 ตลอดจนการรวบรวมข้อเสนอหรือแนวทางที่ชาวบ้านคาดหวังออกมาเผยแพร่ต่อสังคม
กล่าวคือ งานสำรวจนี้ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ผ่านการใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสนทนาทางออนไลน์ เพื่อสอบถามและรับฟัง “สารทุกข์สุกดิบ” ในช่วงโควิด – 19 จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 71 คน ประกอบไปด้วยผู้คนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดราชบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดอ่างทอง จังหวัดนครปฐม กรุงเทพมหานคร และจังหวัดยะลา โดยเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน – 30 เมษายน 2563 จากการสอบถามใน 6 ประเด็นหลัก พบว่า
ประการแรก ผลระทบและความเสี่ยงที่ชาวบ้านได้รับ เป็นที่แน่นอนว่าผลกระทบและความเสี่ยงได้เกิดขึ้นโดยทั่วไป และผลกระทบบางประการมักจะส่งผลซึ่งกันและกัน หรือจากปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระนั้นเพื่อความชัดเจนจึงจะแบ่งผลกระทบและความเสี่ยงออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ผลระทบทางกายภาพและผลกระทบทางจิตใจ/อารมณ์
ผลกระทบและความเสี่ยงทางกายภาพ พบว่า ชาวบ้านหลายรายต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา และการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยปัญหาเศรษฐกิจ พบว่า “การทำมาหากิน” ที่เกี่ยวพันกับปัญหาปากท้องของชาวบ้านได้กลายเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญ ทั้งปัญหารายได้ที่ลดลงหรือหดหายไปจากการถูกกักตัวจนไม่สามารถทำงานได้ การถูกยกเลิกการจ้างงาน การตกงาน การหางานหรือสมัครงานใหม่ก็ยากขึ้น การลดเงินเดือนพนักงานของบริษัท ตลอดจนการทำธุรกิจกิจส่วนตัวต้องหยุดชะงัก เช่น การปิดการเดินรถขนส่ง การปิดร้านที่เล่นดนตรี และตลาดปิดตัวหรือลูกค้าน้อยลง ตลอดจนการไม่ได้รับเงินเยียวยาทั้งที่ไม่มีรายได้
ในส่วนของปัญหาด้านการศึกษาพบว่า นักเรียนและนักศึกษาได้รับผลกระทบจากมาตรการการควบคุมโรคจากทางการ เช่น การประกาศหยุดเรียนทำให้การจบการศึกษาต้องเลื่อนออกไป การยกเลิกห้องเรียนที่เกี่ยวกับการลงพื้นที่ รวมถึงการเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ส่งผลให้การเรียนขาดทักษะหรือความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในวิชาเรียน รวมถึงการสูญเสียรายได้จากการเช่าหอพัก และค่าใช้จ่ายจากการจ้างทำ “พอร์ต” (Portfolio) ที่ยังไม่ได้ใช้
นอกจากนั้นยังพบว่า การดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของชาวบ้านเกิดอุปสรรค ทั้งการซื้อของกินลำบากมากขึ้น การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะเกิดความลำบาก การเดินทางข้ามจังหวัดทำได้ยากขึ้น เพราะการเดินทางจะต้องรายงานตลอด ในบางกรณี การเดินทางไปทำงานในช่วงกลางคืนก็แทบหาอะไรกินไม่ได้ หลังเลิกงานหากเลยเวลาเคอร์ฟิว พวกเขาต้องรอจนถึงเช้าจึงจะกลับบ้านได้ รวมทั้งเมื่อต้องไปทำงานในต่างจังหวัด การหาที่พักยากขึ้นเพราะโรงแรมปิดทำการ การที่แผนการทำงานเดิมที่วางไว้ต้องปรับเปลี่ยนส่งผลให้เกิดความยุ่งยากเพราะกระทบต่อแผนครอบครัว การดำเนินกิจกรรมทางศาสนาไม่สามารถกระทำในมัสยิดได้ และการออกกำลังกายในสวนสาธารณะไม่สามารถทำได้
ในส่วนของความเสี่ยงพบว่า ในบางกรณีเกิดความเสี่ยงจากการทำมาหากินเพราะต้องติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก ความเสี่ยงจากสุขภาพไม่แข็งแรงแล้วอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำงานมีผู้ติดเชื้อ อีกทั้งต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการซื้ออุปกรณ์ในการป้องกัน และความเสี่ยงในการเดินทางเพราะต้องเร่งรีบให้ทันเวลาที่ทางการกำหนด
ผลกระทบทางจิตใจ/อารมณ์ ชาวบ้านหลายรายเกิดความเครียดและความกังวลหลายช่วงและหลายเรื่อง ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งค่าเช่าบ้าน และหนี้สิ้นที่ต้องจ่ายทุกเดือน และกังวลว่า “จะไม่มีงานทำ” “ถูกเลิกจ้าง” “จะติดเชื้อโรค” “เป็นภาระทางบ้าน”
“นายจ้างไม่จ่ายค่าแรง” “จะติดเองไหมหรือไม่รู้จะติดตอนไหน” “รู้สึกเหมือนสังคมเพื่อนหายไป” “อยากกลับบ้านแต่ก็กลับไม่ได้” “เป็นห่วงการเรียน” “รู้สึกเซงได้แต่ช่วยงานเพื่อนเพื่อหารายได้เสริม” “พยายามยิ้มสู้แต่ก็ลำบากเหลือเกิน” “เกิดความเครียดสะสม” “เบื่อหน่ายกิจวัตรประจำวัน” “นอนไม่ค่อยหลับ นอนไม่เป็นเวลา และปวดหัวหน่วง ๆ เป็นบางวัน” “ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง” “หวาดระแวง จิตตก ด้วยความเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ไปจามข้างนอกก็กลัวคนรังเกียจ” รวมถึง “รู้สึกเศร้าที่เห็นข่าวมีการฆ่าตัวตายรายวัน” “ตนเองจบมานั้นก็น่าจะมีงานทำที่เป็นเงินเดือนประจำ หารายได้ส่งครอบครัวของตัวเอง แต่ตอนนี้ถือว่าเป็นคนตกงานก็ว่าได้” “เครียดเพราะรายได้ของครอบครัวมาจากตนเองเพียงคนเดียว” “เป็นห่วงครอบครัวเพราะทำงานกันคนละที่” “เกิดระยะห่างกับคนที่รัก” “หวาดระแวงเรื่องความปลอดภัยจากการสัมพันธ์กับผู้คนในที่สาธารณะ คนในชุมชน”
“เป็นห่วงคนที่รักที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง” “เกือบฆ่าตัวตาย” และ “ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร” ในอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านบางรายสามารถทำใจได้ และคิดว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกหรือไม่ได้กังวลเรื่องความปลอดภัยมากแต่จะใช้ชีวิตอย่างรัดกุมมากขึ้น
ประการที่สอง มาตรการรับมือโรคระบาดของรัฐบาลที่ชาวบ้านได้รับ
จากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านทราบข่าวสารเรื่องมาตรการของรัฐบาลจากสื่อประเภทต่าง ๆ ทั้ง โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ สถานที่ทำงาน และการประกาศจากผู้นำชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่ได้รับประโยชน์และไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ พร้อมกับความคิดเห็นต่อมาตรการเหล่านั้น
1. การได้รับความช่วยเหลือจากรัฐค่อนข้างดี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ควบคุมความเสี่ยง
2. เกิดการรณรงค์หยุดเชื้อเพื่อชาติ และการทำงานที่บ้าน (Work from home)
3. เกิดการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและลูกจ้างชั่วคราว พร้อมกับอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในประกันสังคม
4. ทราบว่าเกิดการช่วยเหลือเกษตรกร 15,000 บาท
5. มาตรการที่รัฐบาลออกประกาศมาคิดว่าได้ผลในระยะแรก แต่มาตรการที่จะตามมา เช่น ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏรูปธรรมที่ชัดเจน หรือไม่ได้การันตีว่าจะได้กลับมาทำงาน
6. มองว่ารัฐมีการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มหรือไม่ทั่วถึง ทั้งการให้เงินเยียวยาและการแจกสิ่งของ เช่น การแจกถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ เป็นต้น
7. รัฐไม่ได้สนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่าที่ควร
8. ในกรณี พรก.ฉุกเฉิน ความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่ตรงข้ามกัน ส่วนแรก ให้เหตุผลว่า การใช้พรก.ฉุกเฉินสามารถห้ามคนได้ และช่วยลดการติดเชื้อ หรือดีกว่าจะให้เชื้อโรคแพร่กระจายมากกว่านี้ อีกส่วนหนึ่ง กลับมองว่าไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับบางพื้นที่ และไม่ได้ช่วยให้วิถีชีวิตดีขึ้น ดังกรณี ภาคอีสาน ชาวบ้านเกรงว่าจะโดนจับ หากพวกเขาจะออกไปจับสัตว์ตามไร่นามาเป็นอาหาร ซึ่งต้องรอหลังฝนตกและเป็นช่วงกลางคืนถึงจะจับสัตว์เหล่านั้นได้ ในกรณีพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีความตึงเครียดเรื่องความไม่สงบ ยิ่งมีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงต่อการอ้างกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน
9. ในแง่ของกระบวนการในแต่ละมาตรการของรัฐยังไม่สามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังกรณี การเกิดกระบวนการคัดเลือกที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ เช่น ผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ หรือ ยังมีลูกกจ้างอาชีพกรีดยางบนเขาที่ไม่ได้รับความช่วยหลือจากรัฐ เป็นต้น รวมทั้งมองว่าใช้งบประมาณมากเกินไปในการเยียวยาที่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อน และในกรณีการคัดรองจากด่านตรวจที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน
10. การห้ามคนเข้า-ออกประเทศ ถือว่ายังล่าช้า
ประการที่สาม บทบาทช่วยเหลือประชาชนในการรับมือโควิด – 19 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
จาการสอบถามชาวบ้านที่รู้จักทั้งหมด 71 คนจากจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดราชบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดอ่างทอง จังหวัดนครปฐม กรุงเทพมหานคร และจังหวัดยะลา พบว่า มีชาวบ้าน 41 คน ได้รับการช่วยเหลือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีชาวบ้าน 24 คน ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยชาวบ้านอีก 6 คนไม่แน่ใจเนื่องจากไม่ค่อยได้สังเกต และเมื่อถามถึงความคาดหวังปรากฏว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีความคาดหวังต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจะมารับฟังปัญหาและเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขาในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ และมีบางรายไม่ได้คาดหวังอะไรจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนบทบาทและวิธีการช่วยเหลือที่ปรากฏให้เห็นแตกต่างกันไปตามพื้นที่ โดยประกอบไปด้วย การแจกถุงยังชีพ ข้าวสาร ปลา และทำอาหารแจกให้ประชาชนใกล้บ้าน การแจกหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ การพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือน บางพื้นที่มีข่าวว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสละเงินเดือนตัวเอง 1 เดือน เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาล รวมถึงการแจกขันน้ำ (ซึ่งชาวบ้านก็งงว่าไม่น่าจะตรงกับความต้องการของพวเขา)
ประการที่สี่ บทบาทของเครือข่าย/องค์กรนอกภาครัฐ (เช่น NGO กลุ่มอาสาสมัคร และเครือข่ายทางสังคมที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการต่าง ๆ )
การช่วยเหลือชาวบ้านจากองค์กร กลุ่มอาสาสมัคร พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังเพราะเข้าใจว่าต่างคนต่างลำบาก อย่างไรก็ดี ได้ปรากฏให้เห็นบทบาทของเครือข่าย/องค์กรนอกภาครัฐ (เช่น NGO กลุ่มอาสาสมัคร และเครือข่ายทางสังคมที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ) ในการช่วยเหลือชาวบ้าน 7 คน ในจังหวัดยะลา และ ช่วยชาวบ้าน 1 คน ในจังหวัดขอนแก่น ส่วนที่เหลือไม่ปรากฏบทบาทในการช่วยเหลือ
องค์กรและกลุ่มที่เข้ามาช่วยเหลือ ประกอบไปด้วยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน กลุ่มเยาวชนและนักศึกษา ส่วนใหญ่การช่วยเหลือจะเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชุมชน หรือ เพื่อน ๆ ที่ส่งอาหารแห้งมาให้ และเห็นองค์กรและบุคคลต่าง ๆ ที่บริจาคช่วยเหลือในสื่อออนไลน์มากกว่า
สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับจะประกอบไปด้วย การแจกหน้ากากอนามัย ถุงยังชีพ การบริจาคข้าวสาร ให้กับพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน
ประการที่ห้า การรับมือ/แก้ปัญหาด้วยตนเอง
การจัดการตนเองของชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่ ก่อนออกจากบ้าน พวกเขาจะใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง การล้างมือบ่อย ๆ โดยการใช้เจลล้างหรือสบู่ล้างทุกครั้งเมื่อมือสัมผัสสิ่งของที่คาดว่ามีความเสี่ยง การงดออกจากพื้นที่ถ้าไม่จำเป็นหรือการหลีกเลี่ยงให้คนในครอบครัวไปพบปะผู้คนในสถานที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมาก การกักตุนอาหารและของใช้สัปดาห์ละครั้งเผื่อสถานการณ์ไม่ดีขึ้น การประกอบอาหารเอง ”กินร้อนช้อนกลาง” การติดตามข่าวสารอย่างเท่าทันและปรับแผนการรับมือ การค้าขาย จะเปิดเร็วและปิดเร็วขึ้น การใช้เทคโนโลยีสื่อสาร (ออนไลน์) เพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การเปลี่ยนจากการเปิดหน้าร้านเป็นขายออนไลน์ หรือการหารายได้เสริมผ่านทางออนไลน์ การปรับพฤติกรรมการเรียนให้เข้ากับการเรียนออนไลน์ และการนัดพบเพื่อนโดยใช้วิธีการเล่นเกมสนทนาผ่านเกมออนไลน์ เป็นต้น หางานทำเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของครอบครัว การงดไปละหมาดที่มัสยิดและประกอบศาสนกิจที่บ้านแทน การแบ่งเวรเพื่อออกไปหาซื้ออาหารเพื่อเตรียมเปิดการถือศีลอด การให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐ การรักษาระยะห่างเมื่อต้องไปซื้อของที่ตลาดสด และรักษาระยะห่างกับครอบครัว (ซึ่งก็ทำให้บางกรณีเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับญาติพี่น้อง) การกักตัวเองโดยไม่ออกจากบ้านเป็นเวลา 14 วัน การพ่นยาฆ่าเชื้อภายในบ้านและร้านค้าที่ทำงาน การใช้จ่ายอย่างประหยัด การออกกำลังกาย และในแง่ของวิธีคิดก็พยายามใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติแต่ก็ระมัดระวังตัวมากขึ้น ขณะที่ชาวบ้านบางรายคิดว่ายังไม่มีการปรับตัวอะไรใช้ชีวิตตามปกติ
ส่วนการรับมือหรือการจัดการภายในชุมชนที่อาศัยอยู่ ผู้นำชุมชนมีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง มีการส่งเสริมการป้องกันตนเองผ่านการแจกโปสเตอร์ให้ความรู้ มาตรการปิดพื้นที่การเข้าออกเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด – 19 มีการตั้งด่านตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้าออกหมู่บ้าน (วัดไข้ ล้างมือ) การแจกถุงยังชีพสำหรับคนที่ต้องกักตัวควรช่วยเหลือเยียวยาเป็นพิเศษ โดยทางกลุ่มอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะมีบทบาทในการทำหน้าที่ตรวจวัดไข้ภายในหมู่บ้าน และ อสม.จะประจำจุดตรวจคัดกรอง
นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาลทำพื้นที่ธนาคารอาหารให้กับประชาชน วิธีการก็คือผู้ที่ต้องการบริจาคสามารถนำสิ่งของมารวมกันไว้ที่เทศบาล เพื่อให้ทางเทศบาลนำไปแจกให้กับชาวบ้านแทนการแจกจากรายบุคคล
ประการสุดท้าย ความคาดหวังและข้อเสนอของชาวบ้าน
ชาวบ้านตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้สถานการณ์ดีขึ้นและการทำให้โรคนี้หายไปโดยเร็ว อย่างไรก็ดี พวกเขาก็คาดหวังว่านอกจากการก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ด้วยตนเองเป็นสำคัญแล้ว พวกเขาก็ยังคาดหวังต่อสังคมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามโครงสร้างความสัมพันธ์ที่มีในสังคมด้วย โดยจากการสอบถามถึงความคาดหวังก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่พวกเขาสะท้อนผ่านการบอกเล่ากลายเป็นทั้งความคาดหวังและข้อเสนอในเวลาเดียวกัน
ข้อแรก คาดหวังว่าภาครัฐจะเข้ามาดูแลเยียวยาอย่างทั่วถึงและทำให้รู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มคน เช่น อยากให้แจกจ่ายสิ่งของที่จำเป็นให้แก่ประชาชนทุกบ้าน หรือไม่ก็อยากให้แสวงหาวิธีการให้การเยียวยาจากรัฐเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ข้อที่สอง รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนเตรียมความพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่เกิดโรคและหลังจากโรคหายไป อยากให้ภาครัฐมีการดูแลและการรองรับในอาชีพต่าง ๆ ของประชาชนอย่างชัดเจน แสวงหาแนวทางให้เศรษฐกิจในช่วงโควิด – 19 เดินได้ อยากให้ทางภาครัฐส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาไปด้วยกัน หวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการฟื้นฟูอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน รัฐบาลควรลงไปจัดระเบียบคัดกรองตรวจหาโรคระบาดโดยคัดเป็นพื้นที่ อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนที่แบกรับภาวะหนี้สินที่กู้ยืมมาใช้จ่ายในช่วงเกิดโรคระบาด อยากให้ตรวจสอบการขึ้นราคาฉวยโอกาสของนายทุนที่เพิ่มราคาสินค้า รัฐบาลควรให้เจ้าหน้าที่สถานที่โรงพยาบาลเปิดให้ประชาชนเข้ารับการตรวจฟรี หรืออยากให้ภาครัฐระดมการตรวจโควิดไม่จำกัดแค่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงแต่พยายามตรวจสอบให้ทั่วถึงทุกคนเราจะได้รู้ว่าใครเป็นใครไม่เป็น ซึ่งจะส่งผลให้ควบคุมง่ายขึ้น คาดหวังให้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพ มีหลักประกันในชีวิต หรือคาดหวังให้รัฐเปิดช่องทางให้คนทำมาหากินตามปกติโดยเร็ว (การรองรับบุคคลที่ตกงาน ฯลฯ) อยากให้มีพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านที่เกิดขึ้นเพราะหน่วยงานที่ตั้งมาใช้ไม่ได้ผล อยากได้เรื่องความปลอดภัยเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน เช่น อยากให้มีสายตรวจลงชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เพราะช่วงเคอร์ฟิวมักมีขโมย แสวงหาแนวทางหรือเกณฑ์ในการเยียวยาที่ยุติธรรมและดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่การจัดระบบลงทะเบียนอาชีพให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น “ไม่ใช่อยู่ กทม. 10 ปี ยังเป็นอาชีพเกษตรกร” ควรบูรณาการงานกับหลายหน่วยงานเพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามมาตรการให้รวดเร็วเพื่อทันกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น หรือ การให้อำนาจชุมชนจัดการตนเองเพื่อเกิดความร่วมมือของคนในชุมชน นอกจากนั้น ชาวบ้านส่วนหนึ่งคาดหวังว่า อยากให้รัฐบาลชุดนี้รับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการลาออก หรือหากไม่ลาออกก็ขอให้มีกระบวนการในการฟังเสียงประชาชนมากขึ้นอยากให้มีการตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมา
ข้อที่สาม ความคาดหวังเกี่ยวกับกฎหมายอยากให้พิจารณาการใช้กฎหมายที่มีลักษณะยืดหยุ่นและขึ้นอยู่กับความจำเป็นมากกว่านี้ หรือทบทวนการการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการอ้างกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน
ข้อที่สี่ อยากให้ปลดล็อค พรก.ฉุกเฉิน เพราะการเดินทางหรือการค้าขายนั้นก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก การเดินทางของประชาชนก็ไม่สามารถเดินทางในยามวิกาลได้
ข้อที่ห้า อยากให้ ส.ส. เปิดสภาเพื่ออภิปรายความเดือดร้อนของประชาชน อยากให้ ส.ส. ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านว่ามีความเดือดร้อนอย่างไร อยากให้ ส.ส. มอบสิ่งของที่จำเป็นให้กับชาวบ้านที่ใช้มาตรการปิดหมู่บ้าน อยากให้ ส.ส. หรือนักการเมืองในพื้นที่ และภาครัฐควรลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนและปกป้องเสียงประชาชน
ข้อที่หก คาดหวังตัวเอง อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวให้ดี อยากให้เพื่อนที่กลับจากพื้นที่เสี่ยงให้กักบริเวณเพื่อเฝ้าดูอาการ 14 วัน คาดหวังว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อจะจะทำให้มนุษย์ได้บทเรียนและทบทวนตัวเองมากยิ่งขึ้น
ข้อสุดท้าย ในส่วนของนักศึกษา อยากได้รับการเยียยาจากทางมหาวิทยาลัยเรื่องการคืนค่าเทอม และค่าใช้จ่ายหอพักนักศึกษา
ในส่วนนี้ คณะทำงานหวังเป็นที่สุดว่าสังคมจะเข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านทั่วไปในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ รวมทั้งนำข้อเสนอของพวกเขาและตนเองส่งเสียงให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ยินและเข้าใจ ขณะที่ภารกิจการทำความเข้าใจเพื่อนยังต้องดำเนินการต่อจากนี้ เพราะปรากฏการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นบางกรณีจำเป็นต้องค้นคว้าให้เห็นถึงเบื้องหลังของปัญหาเพื่อที่จะได้แสวงหาแนวทางแก้ไขอย่างได้ผล และไม่สามารถหวังพึ่งใครคนใดคนหนึ่งได้