Media >

บทเรียนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม : สมชัย ภัทรธนานันท์
Social Movement

Interviews

บทเรียนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม : สมชัย ภัทรธนานันท์

บทเรียนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อ. สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากเวทีเสวนาสาธารณะออนไลน์ New (ab)normal ทางการเมือง?? โดยเครือข่าย We Watch เวลา 14.00-16.30 น. วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563

การพูดในช่วงแรก เป็นช่วงก่อนโควิด ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ช่วง หลังจากนั้นจะพูดถึงหลังจากนี้ไปหลังโควิด ขบวนการประชาธิปไตยจะทำอย่างไร

ช่วงก่อนโควิด ถ้าเรามองช่วงยาวประมาณ 10 กว่าปีมานี้ มีบทเรียนสำคัญที่เราต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งกำลังใส่ใจกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราต้องยอมรับว่าธรรมชาติของมันเหมือนขบวนการอื่น ๆ คือมีขึ้นมีลง มีช่วงประสบความสำเร็จอย่างมากและมีช่วงที่เลี่ยงพล้ำ เป็นสิ่งที่เราต้องถอดบทเรียนและเรียนรู้

ถ้าเราดูสองช่วงก่อนโควิด ช่วงที่หนึ่ง เป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยค่อนข้างคึกคัก เป็นช่วงที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ออกมาทวงสิทธิของตัวเอง แสดงสิทธิของตัวเอง มันเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีคนเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นจำนวนหลายล้านคน กว้างขวางมากทั้งในเมืองและชนบท คนเหล่านี้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง ในการต่อสู้ช่วงที่เรียกว่าเป็นช่วงที่เฟื่องฟูของการต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย ผมคิดว่ามันพีค ที่สุดคงเป็นปี 53 เป็นการต่อสู้ที่มีคนทุ่มเททุกอย่างในการบรรลุข้อเรียกร้องทางประชาธิปไตยของตัวเอง ในปี 53 เราเห็นคนจำนวนมากไม่กลัวตาย เราเห็นคนจำนวนมากที่เสียสละทุกอย่าง แม้กระทั่งคนที่เป็นคนชั้นล่างก็ทุ่มเททุกอย่าง สิ่งที่เราจะมองในปี 53 ในการต่อสู่ช่วงนั้น ก่อนหน้านั้น ปี 49-53 ความรู้สึกอย่างหนึ่งเมื่อกระแสการต่อสู้พุ่งสูงขึ้น คนก็มักจะคิดว่า หนทางไปข้างหน้ามันคือชัยชนะอย่างเดียว คือชัยชนะเหมือนจะมาถึงง่าย ๆ พร้อมที่จะแลกทุกอย่าง นี่เป็นบรรยากาศของปี 53 หลังความรุนแรงปี 53 คนจะเริ่มคิดว่ามันไม่เป็นอย่างนั้น มันมีอุปสรรคหลายอย่าง การต่อสู่เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้จบลงง่าย ๆ ไม่ใช่เรื่องม้วนเดียวจบหรือยกเดียวเสร็จ

หลังความรุนแรงปี 53 กระแสประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้ลด ถึงแม้ว่าจะถูกปราบ ถูกฆ่า ถูกจับ ถูกทำร้ายต่าง ๆ กระแสประชาธิปไตยก็ยังคงอยู่ ผมรวมไว้ว่าเป็นช่วงแรกของกระแสสูงของประชาธิปไตย มันมาลดจริง ๆ มันไม่ใช่มาจากฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยที่ทำให้มันลด สิ่งที่ทำให้ลดคือความผิดพลาดเชิงนโยบายของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ทำลายความชอบธรรมของตัวเอง คือการนิรโทษสุดซอย นี่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันที ชั่วช้ามคืน มันทำให้ความชอบธรรมของตัวเองหายไป กระแสการต่อต้านรุนแรงกว้างขวาง เป็นสองอย่างที่ตัดกัน นี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยหรือผู้ต่อสู้ประชาธิปไตยจะต้องทำความเข้าใจ ว่าสิ่งที่เรียกว่าความชอบธรรมมันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก สิ่งที่เรียกว่าความชอบธรรม ถ้าสูญเสียไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะมีกำลังสิบล้าน คุณจะแข็งแกร่งเท่าไหร่ จะมีคนทุ่มเมสนับสนุนคุณเท่าไหร่ มันหายวับไปทันที แล้วคุณก็ไม่สร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นผู้มีความชอบธรรมขึ้นมา เค้าทำอะไรก็อ้างได้หมด รัฐประหาร เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยาก ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองขนาดนี้ ถ้ารัฐประหารแล้วจะเอาอะไรมาเป็นข้ออ้าง แต่ปี 57 มันอ้างแค่ความสงบ มันก็กลายเป็นความชอบธรรมขึ้นมาได้ นี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ขบวนการประชาธิปไตยค้องทำความเข้าใจ เรียนรู้

หลัง 57 ผมคิดว่าเรามาอยู่อีกช่วงหนึ่ง รัฐประหาร 57 มาจนถึงโควิด เราอยู่อีกช่วงหนึ่ง ช่วงที่ขบวนประชาธิปไตยถดถอย หลังการรัฐประหารปี 57 ทำให้เขาใช้กำลังไปคุกคามข่มขู่ สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยได้ทั่วประเทศ เราเห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยมันไม่เป็นเหมือนที่เราเคยคาดก่อนการรัฐประหาร เราเคยคิดว่าเมื่อมีรัฐประหารก็มีการต่อต้านกว้างขวางแน่นอน แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น คือเราจะมองโดด ๆ ว่าเค้าใช้กำลังอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เราต้องมองว่าฝ่ายที่ทำลายความชอบธรรมของตัวเองไปเพิ่มความชอบธรรมให้อีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ใน 2 ฝ่าย คือประชาชนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ยุ่งการเมือง ที่บอกว่าตัวเองไม่ยุ่งกับใครเทเสียงหรือให้ความสนับสนุนเห็นชอบอีกฝ่ายหนึ่ง การรัฐประหารปี 57 จึงสามารถอ้างได้ง่ายว่าเพื่อความสงบ แค่นี้ก็อยู่แล้ว

เราเห็นอีกเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ว่า จากปี 57 มาถึงโควิด เราเห็นความชอบธรรมของคณะรัฐประหารค่อย ๆ หายไป เพราะสิ่งที่เรียกว่าเป็นความชอบธรรมมันไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป จะได้มาแล้วรักษาไว้เหมือนนาฬิกา เป็นทรัพย์สินคงรูป ไม่ใช่นะ มันเป็นสิ่งที่หายไปจากการกระทำของตัวเอง

หลังรัฐประหารปี 57 การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถูกควบคุม สิ่งหนึ่งในประเทศไทยที่เป็นมรดกของประชาธิปไตยคือ ฝ่ายเผด็จการไม่สามารถจำกัดสิทธิหรือทำลายฝ่ายประชาธิปไตยจนราบคาบไป มันทำไม่ได้ อย่างน้อยเค้าต้องรักษาแค่ขอบเขต ต้องมีขอบเขต ขีดเส้น ว่าต้องนี้ได้ ตรงนั้นไม่ได้ สิ่งนี้โยงมาถึงสิ่งที่เรียกว่าการควบคุมปราบปรามที่มีความซับซ้อนขึ้น

Somchai Patthananan
Somchai Patthananan

แต่ก่อน หลังรัฐประหาร เรามักพูดว่าคณะรัฐประหาร 57 ฉลาดนะ ไม่เผด็จการเหมือนสฤษดิ์ ไม่เหมือนถนอม-ประภาส ไม่เหมือนในอดีต ด้านหนึ่งเค้าทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะถ้าทำแบบนั้นก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดการต่อต้าน มรดกประชาธิปไตยมันมีอยู่ จึงไม่สามารถทำได้ อีกด้านคือการพัฒนาในเมื่อทำสิ่งนั้นไม่ได้ ทำยังไงจะควบคุมปราบปรามประชาชนให้ตัวเองสามารถปกครองได้ จึงเกิดสิ่งที่เราต้องเข้าใจ เรียกว่า การควบคุมปราบปรามหรือ repression มันมีรูปแบบใดบ้าง มีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดว่า ถ้ามันเป็นเผด็จการแล้วทำไรเราอยู่สบาย ๆ ก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหารเราก็อยู่เหมือนเดิม ไม่ได้กระทบอะไร คือการพูดแบบนี้ก็เข้าใจว่าการควบคุมปราบปรามคือการจับ คือการฆ่า คือการอุ้มหายแค่นั้น แต่จริง ๆ ความซับซ้อนทุกวันนี้คือว่า ในเมื่อการใช้กำลังแบบดิบ ๆ ไม่สามารถทำได้แล้ว การควบคุมจึงถูกพัฒนาขึ้นให้มีความซับซ้อนมากขึ้น การควบคุมปราบปรามมันรวมถึงการทำลายชื่อเสียง ทำให้เสื่อมเสีย นี่คือการที่เขาควบคุมอย่างหนึ่ง เป็นการปราบปรามอย่างหนึ่ง แต่เขาไม่ได้จับหรือทำร้าย แต่มันทำให้เสื่อมเสีย เช่น กรณีของคุณโบว์ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการสะกัดควบคุมไม่ให้คนไปเคลื่อนไหว บางคนก็อาจจะไม่เคลื่อนไหวไปเลย การเจาะเข้าถึงข้อมูล ทุกวันนี้ใช้อิเล็คโทรนิกส์ ใช้เทคโนโลยี การควบคุมปรามปรามก็มีการใช้ IO การเจาะเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ผ่านระบบ มีส่วนในการควบคุมการเคลื่อนไหว ถือว่าเป็นการปราบปรามเช่นกัน หรือแม้กระทั่งกฎหมายที่บอกว่า คุณส่งเสียงดัง ผมไม่ให้คุณชุมนุม คุณชุมนุมแล้วมันเลอะเทอะ สกปรก นี่คือ repression เหมือนกันนะ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการปราบปราม

เพราะฉะนั้นเวลาเราเคลื่อนไหวในทุกวันนี้เราต้องเข้าใจว่ากระบวนการที่เรียกว่า repression ที่รัฐใช้กับเรามันประกอบด้วยอะไรบ้าง และการปราบปรามของรัฐ แน่นอนว่าสุดท้ายรัฐเป็นคนใช้กำลัง มันไม่ได้ทำโดยหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เอกชนด้วย ตัวอย่างชัดเจนก็คือ สื่อ การศึกษาเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทุกวันนี้ เขาบอกว่าถ้าพูดถึง repression การปราบปราม จะพูดถึงรัฐอย่างเดียวไม่ได้ เอกชนมีส่วนสำคัญ บ้านเรานี่ชัดเจน การให้ข่าว ผ่านทีวี ออนไลน์ เป็นส่วนในการปูทางสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนของการปราบปราม

ในช่วงหลังการรัฐประหาร 57 จนถึงปัจจุบัน เราเห็นเค้าดำเนินสิ่งนี้ ทั้งรัฐ เอกชนดำเนินสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาเรียนรู้ นี่เป็นก่อนโควิด

ช่วงรอยต่อที่กำลังเกิดโควิด เราเห็นการเสื่อมของความชอบธรรมของรัฐบาลเผด็จการทหาร เสื่อมโดยที่ตัวเองทำ ความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่จริงเกิดขึ้นเยอะแยะในช่วงที่ผ่านมา ความไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นตัวที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ การไม่แก้ปัญหาคอรัปชั่น การเล่นการเมืองแบบไม่มีการปฏิรูปก่อน เล่นการเมืองแบบน้ำเน่า หลายอย่างทำให้เกิดความเสื่อมในตัวเค้าและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะของนักศึกษาและปัญญาชน การเคลื่อนไหวในช่วงนั้นมีอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เด่นก็คือการใช้สื่ออนไลน์ในการเคลื่อนไหว social media สามารถระดมความเห็นของคนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราเห็นในช่วงก่อนเกิดโควิด

จากนี้ไป หลังโควิด ขบวนการประชาธิปไตยจะทำอย่างไร ผมคิดว่ามันมีประเด็นสำคัญ ประเด็นแรกคือ เราต้องทำความเข้าใจว่า social media เมื่อเอามาใช้ในการต่อสู้ มันมีข้อดีและข้อจำกัดยังไง ผมเอามาจากบทเรียนของขบวนการเคลื่อนไหวในต่างประเทศที่ใช้มาก ๆ เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัฒน์ แต่จริง ๆ คนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้เค้าไม่ใช้คำนี้ คำนี้เป็นคำหลังสือพิมพ์ พวกสื่อเรียกว่าเขาต่อต้านโลกาภิวัฒน์ แต่จริงๆ เขาเรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ทางเลือก ขบวนการยุติธรรมโลก (global justice movement) ขบวนการเหล่านี้เคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ไปทำลายชีวิตความเป็นอยู่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีการเคลื่อนไหวประสานกันโดยเครือข่ายจากทวีปต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ผ่านออนไลน์ นี่ก็เป็นกระบวนการที่ใหญ่มาก

อีกขบวนการหนึ่งที่เรารู้จักกันในนามขบวนการ occupy เป็นขบวนการที่เข้าไปชุมนุมในสถานที่สาธารณะ นี่เกิดขึ้นใน 82 ประเทศ เป็นขบวนการที่ใช้ social media ในการเคลื่อนไหว บทเรียนของประเทศเหล่านี้คือ social media ประหยัด คุณจะเรียกคนเป็นแสน แฮชแท็กควายแดงกันเป็นแสนในคืนเดียว มันใช้คนคนเดียว ไม่ต้องเช่าออฟฟิซหรือมีสถานที่ ไม่ต้องลงทุนมาก นั่งอยู่บ้านคนเดียวสามารถระดมคนได้ข้ามทวีป สามารถก่อให้เกิดกระแส ระดมความรู้สึกในเวลาอันสั้นมาก สามารถทำได้แม้กระทั่งเรียกคนมารวมกัน เป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วไปว่าประสิทธิภาพมีอย่างที่สื่อแบบเก่า ๆ ไม่สามารถทำได้ มีประสิทธิภาพมาก

สื่อแบบ social media ในช่วงแรกมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ขั้นต่อไปมีปัญหา เพราะเราไม่ได้แค่สร้างกระแส ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมจะต้องมีปฏิบัติการจริง มันไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์อีกต่อไป มันต้องเป็นปฏิบัติการจริง ออนไลน์นี่มาแทนที่การที่คนมาเจอกัน มาทำงานเหมือนที่เคยทำเช่น สร้างองค์กร สร้างเครือข่าย การทำงานร่วมกันไม่ได้ ปัญหาของขบวนการสองขบวนการระดับโลกที่พูดมาคือ มันมีความสำเร็จในการสร้างประเด็น แต่พอจะปฏิบัติให้บรรลุมันไปไม่ได้ แม้กระทั่งผู้ก่อตั้งขบวนการเหล่านี้ก็ยอมรับว่านี่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นในประเทศเรา ขบวนการที่ใช้ออนไลน์ social media ทั้งหลายจะต้องมาขบคิดว่าขั้นต่อไปจะทำอย่างไร เหมือนขบวนการนักศึกษาที่เกิดขึ้นในทั่วประเทศเรา สิ่งที่พวกเขาต้องคิดต่อก็คือ แล้วเราจะมาร่วมมือกันอย่างไร เป็นประเด็นใหญ่ที่มีการถกเถียงกันค่อนข้างยาก ว่าในเมื่อจะปฏิบัติการให้บรรลุผล แล้วจะร่วมมือกันอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าหลังจากนี้ไป เราต้องคิด

อันที่สอง คาดการว่า หลังโควิด ประเทศไทยและทั่วโลกจะวิกฤติรุนแรง ประเทศไทยไม่มีทางดิ้น ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP จากส่งออก ท่องเที่ยวก็เสร็จเรียบร้อย เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ จะมีคนใหม่ ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นใหม่ ๆ โดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจ นี่เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ว่า กลุ่มคนที่เคยเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจะประสานกับกลุ่มคนที่จะออกมาใหม่ ๆ ที่จะออกมาอย่างไร ทำยังไงเราจะร้อยรัดเอาพลังเหล่านี้เข้ามาเป็นพลังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้ นี่เป็นโจทย์สำคัญที่ผมคิดว่าเราต้องเอาไปขบคิดกันครับ

Was this useful?

Thanks for your feedback

You could also be interested in

Focus

Digital Election Analytic Lab (DEAL) หรือ โครงการติดตามเเละวิเคราะห์กระบวนการเลือกตั้งในโซเชียลมีเดีย เป็นกระบวนการสืบเนื่องที่พัฒนามาจากหลักการและกรอบแนวคิดของจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ ลงนามร่วมกันโดยพรรคการเมืองจำนวน 30 พรรค

Focus

LIVE แถลงการณ์ ความเห็นต่อการเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้า-นอกเขต วันที่ 7 พ.ค. 2566 .โดยเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ปี 2566 . ณ ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ 1 สถาบันไทยคดีศึกษา ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

Interviews

“ผมรู้จักกับกลุ่ม We Watch ก่อนเลือกตั้งปี 2562 สักระยะ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งจากนักศึกษา เพื่อมาสังเกตและจับตาการเลือกตั้ง ทั้งก่อนเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ช่วงนั้นผมเรียนอยู่ ม.เกษตร ทำกิจกรรมนักศึกษาอยู่แล้ว เลยมาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของการเลือกตั้งครั้งนั้น ผมโอนสิทธิจากชุมพรมาเลือกตั้งล่วงหน้าที่กรุงเทพฯ หน่วยนั้นอยู่ใกล้กับราบ 11

Focus

เว็บลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. ล่ม คาดมีประชาชนได้รับผลกระทบนับแสน กกต. สมควรจะขยายระยะเวลาการลงทะเบียนเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหา