“ผมรู้จักกับกลุ่ม We Watch ก่อนเลือกตั้งปี 2562 สักระยะ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งจากนักศึกษา เพื่อมาสังเกตและจับตาการเลือกตั้ง ทั้งก่อนเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ช่วงนั้นผมเรียนอยู่ ม.เกษตร ทำกิจกรรมนักศึกษาอยู่แล้ว เลยมาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของการเลือกตั้งครั้งนั้น ผมโอนสิทธิจากชุมพรมาเลือกตั้งล่วงหน้าที่กรุงเทพฯ หน่วยนั้นอยู่ใกล้กับราบ 11 ภาพที่ผมเห็นคือ ทหารออกมาใช้สิทธิกันเยอะมาก มาเป็นกองร้อย น่าจะเป็นทหารเกณฑ์ โดยมีครูฝึกมาจัดแถวให้เป็นระเบียบ ดูแล้วรู้เลยว่าไม่ได้มาแบบปัจเจก ไม่เป็นธรรมชาติ แต่ผมไม่รู้ว่าผิดปกติยังไง ข้างในมีอะไรหรือเปล่า เลยจดประเด็นเอาไว้
“ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไปดูหลายหน่วยเลือกตั้ง เห็นบางแห่งจัดการไม่ตรงตามเช็คลิสต์ของ กกต. ปกติด้านหลังคูหาต้องมีฉากทึบกั้นเพื่อไม่ให้คนมองเห็นว่ากาเบอร์ไหน แต่บางหน่วยไม่ได้ปิดให้มิดชิด หรือเปิดโล่งไปเลย ด้วยความที่ตอนนั้น We Watch ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ผมเลยยังไม่ได้ประท้วงอะไร แค่จดประเด็นเอาไว้ เอาจริงๆ ก็ไม่รู้ด้วยว่า เป็นความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ บางทีเจ้าหน้าที่อาจรับบรีฟมาจาก กกต. แล้วมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไปโดยไม่ตั้งใจก็ได้
“พอวันเลือกตั้งจริง ผมตระเวนไปหน่วยเลือกตั้งย่าน ม.เกษตร เจอปัญหาเดิมเลย ด้านหลังคูหาไม่มีฉากทึบกั้น ตอนนั้นเราได้หนังสือจาก กกต. ว่าเป็นองค์กรที่จับตาการเลือกตั้งแล้ว ผมเลยท้วงติง เจ้าหน้าที่ก็ปรับเท่าที่ทำได้ บางหน่วยไม่ติดเอกสารที่แจ้งว่าได้บัตรมากี่ใบและจำนวนผู้ใช้สิทธิกี่คน ผมถามว่าทำไมถึงไม่ติด เขาบอกว่า เป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องรู้ก็ได้ พอผมอธิบายเหตุผลไปว่า มันเอาไว้เช็คว่าบัตรที่เบิกมา และจำนวนผู้ใช้สิทธิต้องตรงกัน เขาก็ยอมติดให้ วันนั้นผมเห็นทหารออกมาเลือกตั้งกันที่หน่วยโรงเรียนช่างฝีมือทหารพอสมควรนะ แต่ไม่มีครูฝึกมาคุม ดูเป็นการใช้สิทธิแบปัจเจกมากกว่า
“ผมเห็นบัตรเสียพอสมควร น่าจะสัก 5 เปอร์เซ็นต์ เช่น บางคนน่าจะได้ปากกาหมึกมีปัญหา ทั้งที่รูปทรงเป็นกากบาท แต่เขาเขียนย้ำจนเหมือนเป็นสองเส้น บางหน่วยเลยตีว่าบัตรเสีย คนที่ดูนับคะแนนอยู่ก็ท้วง แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า มันไม่ตรงตาม กกต. กำหนด สุดท้ายบัตรนั้นเลยเป็นบัตรเสีย มีบางหน่วยจำนวนผู้ใช้สิทธิกับคะแนนไม่ตรงกัน คนตรงนั้นก็ขอให้นับใหม่ สุดท้ายก็ตรง เดาว่าคนขานคะแนนกับคนเขียนอาจสื่อสารผิดพลาด ต้องบอกว่ากรุงเทพฯ ไม่ค่อยเจออะไรผิดปกตินะ เป็นพื้นที่ที่สื่อจับตา แต่อาสาที่สังเกตตามต่างจังหวัดบอกว่า เห็นหัวคะแนนมานั่งคุม เห็นคนมามองคนกาจากข้างหลังคูหาเลย
“นอกจากการใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว เรายังปกป้องสิทธิของตัวเองได้ด้วย และเจ้าหน้าที่ต้องทำให้ถูกต้อง การมีคนไปจับตาก็มีหลายอารมณ์ บางคนมองว่าทำงานยากขึ้น แต่บางคนก็ให้ความร่วมมือในการแก้ไข ในบทบาทของการตรวจสอบ เราต้องมองว่าอาจมีช่องโหว่ ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ถ้า กกต. ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ เราหรือองค์กรอื่นๆ ที่จะร่วมมือกันจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย กกต. คือองค์กรอิสระ แต่ปัญหาคือ คณะกรรมการของ กกต. ชุดนี้เป็นชุดเดียวกับที่ คสช. แต่งตั้งตอนปี 2557 เพื่อจัดการเลือกตั้งปี 2562 และปี 2566 ประชาชนจะเชื่อใจได้ไหม
“สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมจะใช้สิทธิเลือกในวันจริงที่บ้านที่ชุมพร คงไปสังเกตการณ์เหมือนเดิม ประชาชนทุกคนสามารถสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ แต่ถ้าเห็นอะไรผิดปกติ คุณแจ้งมาทาง We Watch หรือหน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งก็ได้ ไม่มีใครรู้ว่าการจับตามีส่วนต่อผลการเลือกตั้งไหม แต่มันคือสิ่งที่ประชาชนยังทำได้ในช่วงเวลาที่เสียงของเรายังมีอำนาจ ช่วงกำลังจะเลือกตั้งเนี่ย ประชาชนเป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดินแล้ว สุดท้ายไม่ว่าพรรคไหนจะได้รับเลือก เราก็ต้องยอมรับ แต่จุดเริ่มต้นต้องทำให้โปร่งใสก่อน ยังไงชัยชนะที่โปร่งใสก็สง่างามมากกว่า”