
รายงานการติดตามการเลือกตั้งซ่อม เขต 4 จังหวัดลำปาง
วันที่ 20 มิถุนายน 2563
หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง เขต 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2563 ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 จึงได้มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งซ่อมในเขต 4 จังหวัดลำปาง ในวันที่ 20 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีความพิเศษ เนื่องด้วยกระบวนการเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ถือเป็นขั้นตอนการปฏิบัติใหม่ เช่น การจัดอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยแบบแบ่งกลุ่มย่อย การกำหนดให้มีการจัดปราศรัยที่มีการรวมตัวกันได้ไม่เกิน 30 คน การจัดมาตรการความสะอาดและการรักษาระยะห่างในหน่วยเลือกตั้ง เป็นต้น รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างไปจากเดิม การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญอย่างมาก
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 67.52 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาสาสมัคร We Watch พบว่าการจัดการเลือกตั้งโดยรวมได้เกิดความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งข้าราชการระดับอำเภอที่เป็นแกนหลักในการจัดการการเลือกตั้งซ่อม เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ได้เข้ามามีส่วนดูแลเรื่องมาตรการการป้องกันโรค รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อำนวยการในเรื่องความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี จากการติดตามและการลงพื้นที่สังเกตการณ์ของอาสาสมัคร เครือข่ายสังเกตการณ์การเลือกตั้งและประชาชนโดยทั่วไปยังคงมีคำถามต่อความยุติธรรมของการเลือกตั้งในครั้งนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งซ่อม เนื่องด้วย 3 เหตุผลหลัก คือ 1. การใช้อำนาจเชิงโครงสร้าง การใช้กลไกข้าราชการและทรัพยากรของรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองบางพรรค 2. เกิดการซื้อสิทธิขายเสียงในพื้นที่เลือกตั้งซ่อมในวงกว้างก่อนวันเลือกตั้งซ่อม และ 3. กกต. ไม่สามารถป้องปราม ป้องกัน และสืบสวนความผิดปกติทางการเลือกตั้งแบบเชิงรุก ทำให้ความผิดปกติทางการเลือกตั้งยังคงเกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
เครือข่ายอาสาสมัคร We Watch ได้ติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งซ่อม เขต 4 จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 15-20 มิถุนายน 2563 โดยการติดตามการรายงานข่าวจากสื่อต่าง ๆ ด้วยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ และการลงพื้นที่ในอำเภอเกาะคา เสริมงาม และสบปราบ ทางเครือข่าย We Watch ได้รวบรวมประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
การใช้อำนาจเชิงโครงสร้าง กลไกข้าราชการและทรัพยากรของรัฐ
ดังที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงตรวจเยี่ยมราชการและมอบนโยบายต่อข้าราชการ และผู้นำท้องถิ่นเพียง 2 วันก่อนการเลือกตั้งซ่อม คือในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ที่โรงเรียนสบปราบพิทยา อำเภอสบปราบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังคงเร่งเตรียมการจัดการเลือกตั้งซ่อม ในการลงพื้นที่ตรวจราชการในครั้งนี้ ทางจังหวัดลำปางได้มีจดหมายเรียกผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำนันทุกตำบล ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านจาก อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอเสริมงามให้เข้าต้อนรับและรับคำสั่งนโยบาย ซึ่งในการตรวจเยี่ยมราชการในครั้งนี้ พลเอกประวิตรกล่าวถึงงบประมาณกลางและงบประมาณจัดการบริหารน้ำที่จะจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในจังหวัดลำปางโดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ รัฐบาลกำลังให้การดูแลเรื่องปัญหาน้ำและภัยแล้ง มีการจัดสรรงบประมาณดำเนินการดูแลแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน ให้ลำปางเป็นพื้นที่ปราศจากภัยแล้ง ปีนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาภัยแล้งมาให้ เพื่อการขุดเจาะน้ำบาดาล ซ่อมแซมระบบประปา ในขณะนี้รัฐบาลมีการจัดการงบกลางและงบประมาณด้านน้ำเพื่อช่วยเหลือเรื่องน้ำในจังหวัดต่าง ๆ กว่า 150 โครงการ” ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ข้อความดังกล่าวสื่อสารเพื่ออะไร และทำไมพลเอกประวิตรถึงเลือกเดินทางลงพื้นที่จังหวัดลำปางในช่วงเวลา 2 วัน ก่อนการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ปฏิบัติการการสื่อสารดังกล่าวส่งผลให้ข้าราชการในพื้นที่ต้องปฏิบัติตามโครงสร้างของระบบราชการ ในการเตรียมรับงบประมาณและการจัดสรรทรัพยากรจากรัฐบาลส่วนกลาง ซึ่งมีนัยทางการเมืองที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะเกิดขึ้น
ข้อสังเกตดังกล่าว หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนานำทรัพยากรของรัฐไปใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับผู้สมัครรายใดรายหนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง การกระทำในลักษณะเช่นนี้จะถือว่าไม่มีความยุติธรรมในกระบวนการทางการเมืองและไม่สนับสนุนคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย
ขณะที่ We Watch ได้รับคลิปวิดีโอที่ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในชุมชนและในจังหวัดได้เรียกประชุมชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในอำเภอเสริมงาม มีใจความบางส่วนว่า “ประเทศจะยังคงอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลนี้อีกนาน ถ้าเราไม่เปลี่ยนขั้วหรือทิศทาง เราก็ได้แต่อุดมการณ์ ไปทางไหนไม่ได้ ชาวบ้านควรเข้าใจทิศทางให้ตรงกัน ผมพิจารณางบประมาณทั้งจังหวัด อย่างน้อยงบตรงนี้เราต้องให้ได้ รวมทั้งงบหมู่บ้านของเราด้วย ฉะนั้น ทิศทางนี้ที่เราพูดกันอยู่นี้ เราต้องเข้าใจ” ข้อความนี้สื่อให้เห็นว่าอำนาจในการเสนอและทำให้การพิจารณางบประมาณให้ชุมชนสำเร็จลุล่วงนั้นอยู่ที่ใคร
ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ บทบาทของอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ถือว่ามีความสำคัญ กล่าวคือ อสม. เป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านในแต่ละกลุ่มบ้านและได้รับการอบรมตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยมีบทบาทหน้าที่สำคัญในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพอนามัย (Change agents) การสื่อข่าวสารสาธารณสุข การแนะนำเผยแพร่ความรู้ การวางแผน และประสานกิจกรรมพัฒนาสาธารณสุข ตลอดจนให้บริการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ โดย อสม. 1 คนมีหน้าที่ในการดูแลครัวเรือนในหมู่บ้านเฉลี่ย 10-15 ครัวเรือนและมีวาระ 4 ปี บทบาทเช่นนี้ส่งผลให้ อสม. มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านทุกครัวเรือน จน อสม.บางรายสามารถทราบได้ว่าชาวบ้านแต่ละคนมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองไหนหรือผู้สมัครใด ทำให้ อสม. กลายเป็นหนึ่งในโครงสร้างของรัฐที่อาจสามารถหว่านล้อมและสร้างอิทธิพลทางอ้อมแก่ชาวบ้านในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้
น่าสังเกตว่า อสม. ได้รับการปรับอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นในช่วงการบริหารของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติหรือ คสช. ซึ่งเป็นงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ยังได้รับค่าตอบแทนเพิ่มอีกจำนวน 500 บาท ในระหว่างเดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2564 จากกระทรวงสาธารณสุข นำมาสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางการเมืองและการเลือกตั้งของอสม.
นอกจากผู้นำชุมชน ชาวบ้านยังให้ข้อมูลว่า บุคคลที่เป็นหัวคะแนนในพื้นที่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ อสม. ซึ่งจะลงชุมชนที่ตนเองรับผิดชอบ จดรายชื่อสมาชิกในแต่ละครัวเรือน พร้อมนำเงินมาให้แต่ละครอบครัวในพื้นที่ อำเภอเกาะคา และ อำเภอเสริมงาม (โปรดดูรายละเอียดในหัวข้อการซื้อสิทธิขายเสียง)
กล่าวโดยสรุป การลงพื้นที่ตรวจราชการ การปรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ที่เป็นเครือข่ายกลไกของราชการ ในระยะกระชั้นชิดก่อนการเลือกตั้งนั้น อาจตั้งคำถามได้ว่าเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร
การซื้อสิทธิขายเสียง
ผู้ใช้สิทธิที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปงป่าป๋อ ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม ให้ข้อมูลกับเครือข่ายผู้สังเกตการณ์ว่า พบเห็นผู้นำชุมชมเก็บรายชื่อสมาชิกในหมู่บ้านที่มีความประสงค์รับเงินจำนวน 300 บาท โดยชาวบ้านในหมู่บ้านทราบดีว่าคนคนนั้นเป็นหัวของคะแนนของพรรคการเมืองฝ่ายใด ดังนั้น การจ่ายเงินดังกล่าว ถือเป็นการชักจูงให้ชาวบ้านลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัคร ซึ่งข้อมูลนี้ตรงกับการให้ข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่บ้านศรีลังกา ตำบลเสริมกลาง อำเภอเสริมงาม ที่มีการเช็คชื่อและจ่ายเงินเสร็จสิ้นตั้งแต่ประมาณ 4-5 วันก่อนการเลือกตั้งซ่อม และหากผู้รับเงินไม่เลือกผู้สมัครเบอร์ที่ได้ตกลงไว้ “จะเป็นปัญหากับพวกหัวคะแนน” ชาวบ้านจึงมักรับเงินมาแล้วเลือกผู้สมัครหมายเลขนั้น
นอกจากผู้นำชุมชน ชาวบ้านยังให้ข้อมูลว่า บุคคลที่เป็นหัวคะแนนในพื้นที่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ อสม. ซึ่งจะลงชุมชนที่ตนเองรับผิดชอบ จดรายชื่อสมาชิกในแต่ละครัวเรือน พร้อมนำเงินมาให้แต่ละครอบครัวในพื้นที่ อำเภอเกาะคา และ อำเภอเสริมงาม เหตุการณ์เหล่านี้มิได้เกิดเพียงในพื้นที่ที่เครือข่าย We Watch ได้รับแจ้งโดยตรงเท่านั้น แต่ในสื่อสังคมออนไลน์ยังมีการพูดถึงกรณีที่คล้ายคลึงกัน ในพื้นที่ อำเภอเถิน และ อำเภอสบปราบ ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และ พรก.ฉุกเฉิน ทำให้ อสม. ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการเลือกตั้งซ่อม คือ ทำหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิหน้าหน่วยเลือกตั้งและดูแลมาตรการควบคุมโรค โดยประจำการ 3 คนต่อ 1 หน่วย เพื่อทำหน้าที่วัดอุณหภูมิ แจกแอลกอฮอล์ล้างมือให้กับประชาชนที่มาใช้สิทธิ ทั้งก่อนเข้าและหลังออกจากคูหา จึงทำให้ อสม. ที่มีส่วนในการเป็นผู้เช็ครายชื่อชาวบ้านหรือสร้างแรงจูงใจต่อชาวบ้านก่อนวันเลือกตั้งซ่อม รวมถึงการได้มีโอกาสการตรวจสอบว่าผู้ได้รับเงินได้มาลงคะแนนหรือไม่ เพราะคนที่รับเงินจะต้องเป็นคนที่ได้มาใช้สิทธิจริงเท่านั้น
การซื้อสิทธิขายเสียงถือเป็นความผิดปกติทางการเลือกตั้ง ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในเชิงกายภาพ เช่น อันตรายต่อหัวคะแนนถ้าไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งหัวคะแนนเหล่านั้นเป็นคนในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านที่รับเงินมานึกถึงผู้สมัครหมายเลขที่ได้ตกลงกันไว้ ผนวกกับการแต่งตั้งให้ผู้นำชุมชุม เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และผู้ช่วยกำนัน ทำหน้าที่เป็นกรรมการประจำหน่วยหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และการมอบหมาย อสม. ให้ประจำการในแต่ละหน่วย ยิ่งทำให้บรรยากาศภายในหน่วยไม่อำนวยให้ผู้ใช้สิทธิได้ตัดสินใจเลือกกาคะแนนได้อย่างอิสระ ดังที่ชาวบ้านรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ผู้ที่ให้เงินกับตนกำชับว่า “อย่าหักหลังกันนะ จะรออยู่ข้างในหน่วย”
ในช่วงก่อนวันเลือกตั้งซ่อม อาสาสมัคร We Watch ได้รับข้อมูลจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่เขต 4 ว่าการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพียงแต่ไม่มีชาวบ้านที่กล้ารายงานหรือแจ้งเอาผิดในกรณีนี้ เนื่องด้วยความกลัวต่ออิทธิพลในพื้นที่และอันตรายต่อตัวเองและครอบครัว ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับเงินหรือรู้เห็นพฤติกรรมการซื้อสิทธิขายเสียงมักมีความกังวลและเกรงกลัวที่จะถูกข่มขู่/คุกคาม จึงทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะร้องเรียนต่อ กกต. หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเกิดเหตุหรือแม้กระทั่งการเก็บหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายหรือวิดีโอไว้ ทำให้ประเด็นเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงถูกพูดถึงอย่างมากในพื้นที่โซเชียล แต่การดำเนินการตามกฎหมาย หรือการเอาผิดกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจากกรณีซื้อสิทธิไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้มีข้อมูลการซื้อสิทธิขายเสียงปรากฏขึ้นระหว่างการเลือกตั้งทุกครั้ง และดำรงอยู่ในทุกการเลือกตั้ง
บทบาทของ คณะกรรมการเลือกตั้งหรือ กกต.
ในการจัดการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ กกต. จังหวัดลำปางได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอทั้ง 5 อำเภอในเขตเลือกตั้งที่ 4 เป็นผู้อำนวยการจัดการเลือกตั้งซ่อม แต่ กกต. ยังจำเป็นต้องมีบทบาทในการดูแลภาพรวมของการเลือกตั้งและติดตามสืบสวนกรณีความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดการเลือกตั้ง ด้วยกรอบกฎหมายของ กกต. ที่มีการจัดตั้งหน่วยงานสืบสวนสอบสวน แต่มิได้มีลักษณะการทำงานในเชิงรุก กล่าวคือ มีเพียงบทบาทในการตั้งรับการร้องเรียนจากพรรคการเมืองหรือประชาชน ทำให้ กกต. ปฏิเสธที่จะรับรู้ความผิดปกติทางการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น แม้ในสื่อสังคมออนไลน์จะมีการพูดถึงข้อมูลการซื้อสิทธิขายเสียงในพื้นที่ รวมถึงการนำหลักฐานการกระทำผิดที่ชัดเจนมาเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต แต่ กกต. ก็ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้
ทาง We Watch เห็นว่า กกต. สามารถพัฒนาบทบาทและระเบียบการปฏิบัติงานในด้านการสืบสวนสอบสวนความผิดปกติและความรุนแรงทางการเลือกตั้งให้มากขึ้นได้หากทำงานในเชิงรุก เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานของ กกต. และเกิดความเชื่อมั่นต่อการจัดการเลือกตั้งโดยรวม และส่งผลต่อความสามารถในการป้องปราม และป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดหรือเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเลือกตั้งในอนาคตได้
จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น We Watch ยังมีความห่วงใยในการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากการขาดมาตรการรองรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้ง แม้ตามกฎระเบียบของ กกต. การเลือกตั้งซ่อมจะไม่อนุญาตให้มีการเลือกตั้งนอกเขตหรือเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ผนวกกับความกังวลเรื่องสุขภาพ ซึ่ง กกต. ได้มีการวางแผนเรื่องมาตรการป้องกันโรคในระหว่างการจัดการเลือกตั้งเป็นอย่างดี แต่กลับละเลยข้อกังวลหรืออุปสรรคของผู้ใช้สิทธิที่อยู่นอกพื้นที่ที่ต้องการใช้สิทธิในครั้งนี้ ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเดินทางกลับมาใช้สิทธิได้ ด้วย 2 เหตุผลหลัก คือ 1) จากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ใช้สิทธิไม่อยากลางานหรือเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา นายจ้างไม่อนุญาตให้เดินทางกลับมาใช้สิทธิ และ 2) การประชาสัมพันธ์ยังไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ใช้สิทธิไม่ได้รับข้อมูลประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า หรือไม่มีมีระยะเวลามากพอที่จะวางแผนเดินทางกลับภูมิลำเนา
ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ เครือข่าย We Watch เชื่อมั่นว่า หาก กกต. พัฒนาแผนประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางมากขึ้น และมีมาตรการรองรับที่จะช่วยอำนวยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้งได้ใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเอง โดยไม่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ประกอบกับการเพิ่มบทบาทให้ทั้ง กกต. รวมถึงพรรคการเมือง มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เรื่องการเลือกตั้งทั่วไป รวมถึงการเลือกตั้งซ่อมในวงกว้างมากขึ้น หรือสนับสนุนการหาเสียงในช่วงโควิท-19 โดยสร้างพื้นที่ออนไลน์สำหรับผู้สมัครในการปราศรัยอย่างเท่าเทียม ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างพื้นที่ในสื่อโทรทัศน์และวิทยุให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิสามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครและพรรคการเมืองโดยไม่จำกัดอยู่เพียงการเดินหาเสียงในพื้นที่เท่านั้น จะเป็นการพัฒนาให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หรือสถานการณ์โรคระบาดอื่น ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยสรุปแล้ว การจัดการเลือกตั้งซ่อมเขต 4 จังหวัดลำปางในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้ปฏิบัติหน้าที่และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ ด้วยเหตุความผิดปกติใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การใช้อำนาจเชิงโครงสร้าง กลไกข้าราชการและทรัพยากรของรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง 2. เกิดการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลซื้อสิทธิขายเสียงในพื้นที่เลือกตั้งซ่อมในวงกว้างก่อนวันเลือกตั้งซ่อม และ 3. กกต. ยังไม่สามารถป้องปราม ป้องกัน และสืบสวนความผิดปกติทางการเลือกตั้งแบบเชิงรุก ตามที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น ทำให้ทางเครือข่าย We Watch ไม่สามารถกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ได้สะท้อนเสียงของชาวลำปางเขต 4 อย่างแท้จริง และยังมีคำถามในประเด็นความยุติธรรมของการจัดการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้โดยภาพรวม เครือข่าย We Watch จึงมีความหวังอย่างยิ่งว่า กกต. จะพัฒนากระบวนการและมาตรการในการดำเนินการต่อเรื่องร้องเรียนและกรณีความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และปกป้องความปลอดภัยของพยาน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะให้ความร่วมมือในกระบวนการต่าง ๆ ไม่เกิดการแทรกแซงกระบวนการสืบสวนสอบสวน เคารพมารยาททางการเมืองและการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใส อีกทั้งควรเปิดเผยข้อมูลให้สังคมได้รับรู้และคลายข้อสงสัยหรือข้อกังวลต่อสถานการณ์ก่อนที่จะมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ