Reports >

รายงานผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (ก่อนวันเลือกตั้ง) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง
Municipal Election

รายงานผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (ก่อนวันเลือกตั้ง) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง

Share

(Thai Version)

(English Version)

We Watch เครือข่ายสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย ได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในช่วงก่อนวันเลือกตั้งของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่างระหว่างวันที่ 17 – 22 ธันวาคม 2562 ผ่านสามวิธีการหลัก คือ 1) การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทีมหาเสียงของผู้สมัคร และผู้มีสิทธิเลือกตั้งของทั้ง 5 อำเภอ รวม 85 คน 2) การสังเกตการณ์สถานการณ์ในพื้นที่ เช่น เวทีปราศรัยของผู้สมัคร การรณรงค์ของ กกต. และบรรยากาศทั่วไป และ 3) ช่องทางออนไลน์ เช่น สื่อออนไลน์ และเพจเฟซบุ๊กของผู้สมัคร โดยส่งอาสาสมัครลงพื้นที่จำนวน 8 คน
ผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง พบปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการจัดการการเลือกตั้ง ความเป็นอิสระในการเลือกตั้ง ความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง และความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ข้อมูลพื้นฐาน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ประกอบด้วย 196 หน่วยเลือกตั้ง ใน 5 อำเภอของจังหวัดกำแพงเพชร คือ อำเภอพรานกระต่าย อำเภอลานกระบือ อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอไทรงาม (เฉพาะตำบลมหาชัย ตำบลหนองคล้า ตำบลหนองทอง และตำบลพานทอง) และ อำเภอเมือง (เฉพาะตำบลสระแก้ว) มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 3 คน จาก 3 พรรคการเมือง คือ เบอร์ 1 นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ พรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 2 นายอิทธิพล แตงเล็ก พรรคภาคีเครือข่ายไทย และ เบอร์ 3 นายกัมพล ปัญกุล พรรคเพื่อไทย
ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 144,489 คน มีผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 105,997 คน คิดเป็นร้อยละ 73.36 บัตรดี 91,596 ใบ คิดเป็นร้อยละ 86.41 บัตรเสีย 12,978 ใบ คิดเป็นร้อยละ 12.24 บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด จำนวน 1,423 ใบ คิดเป็นร้อยละ 1.34 (ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าว Thai PBS ค้นข้อมูลวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563; https://news.thaipbs.or.th/content/284746) โดยผู้ชนะการเลือกตั้งลำดับที่ 1 ถึง 3 คือ พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ พรรคพลังประชารัฐ (ได้ 34,271 คะแนน) นายอดุลรัตน์ แสงประชุม พรรคเพื่อไทย (ได้ 18,626 คะแนน) และ นายสุขวิชชา มุสิกุล พรรคประชาธิปัตย์ (13,289 คะแนน) (ข้อมูลจาก กกต. จังหวัดกำแพงเพชร ได้ข้อมูลวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563)

บรรยากาศทั่วไปของการเลือกตั้ง

จากการสัมภาษณ์และการลงพื้นที่ของอาสาสมัครในทุกอำเภอของเขตเลือกตั้งที่ 2 พบว่า บรรยากาศทั้งการหาเสียงและการพูดคุยเกี่ยวกับการเลือกตั้งในหมู่บ้านไม่มีความคึกคัก ต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562
ข้อมูลจากทีมวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าที่มาทำการสังเกตการณ์ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พบว่า บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแบบเงียบเหงา ตัวชี้วัดหนึ่งคือ การปราศรัยของผู้สมัครที่มีการจัดเวทีเป็นเวทีเล็กๆ ตามสถานที่ต่างๆ ทำให้มีประชาชนเข้าร่วมน้อย อีกทั้งไม่มีเสียงเชียร์ เสียงโห่ร้องที่มีชีวิตชีวาของผู้เข้าฟังปราศรัย

ประสิทธิภาพในการจัดการการเลือกตั้ง
1. การฝึกอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)
กกต. เขต และ กกต. กลาง ได้จัดฝึกอบรมการปฏิบัติงานให้ กปน. ของทุกหน่วยเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 โดยแบ่งการฝึกอบรมในแต่ละอำเภอ และแบ่งการจัดอบรมเป็นภาคเช้า-ภาคบ่าย ภาคละ 17 – 41 หน่วย นอกจากนี้ ได้มีการแยกประธานหน่วยเลือกตั้งอบรมเกี่ยวกับการจัดทำแบบพิมพ์โดยเฉพาะ โดยจัดที่หอประชุมประจำอำเภอ (ยกเว้น 17 หน่วยเลือกตั้งของตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง ที่มีการจัดอบรมที่ห้องประชุมของโรงเรียนบ้านลำมะโกรก)
จากการสังเกตการณ์ของอาสาสมัคร We Watch อำเภอลานกระบือ และอำเภอไทรงาม พบว่า
1) วิทยากรมีความรู้ความสามารถในการบรรยายเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนต่างๆ ของการปฏิบัติงานของ กปน. อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นเพียงการบรรยาย มิได้มีกระบวนการในการฝึกปฏิบัติการของ กปน.
นอกจากนี้ ในการอบรมที่อำเภอลานกระบือวิทยากรลืมพูดเนื้อหาบางส่วน คือ เนื้อหาเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกให้คนชราและคนพิการ โดยได้พูดเพิ่มเติมในช่วงท้ายของการฝึกอบรมซึ่งเป็นช่วงที่มี กปน. นั่งอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง (เนื่องจากมีการแยกประธาน กปน. ไปอบรมแบบพิมพ์ และ กปน. บางส่วนไปเข้าห้องน้ำและยืนอยู่ด้านนอกหอประชุม) วิทยากรอธิบายว่า ถ้าคนชราและคนพิการ ร้องขอให้ กปน. ช่วยเหลือในการช่วยลงคะแนน กปน. สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม อาสาสมัคร We Watch ตั้งข้อสังเกตว่า วิทยากรควรพูดด้วยว่าหากไม่มีการร้องขอ กปน. ต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการลงคะแนนของผู้ใช้สิทธิ ซึ่งบทเรียนนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในการเลือกตั้งซ่อม เขต 7 จังหวัดของแก่น ที่ กปน. เข้าไปดูขณะที่ผู้ใช้สิทธิกำลังลงคะแนนในคูหา และมีอีกหนึ่งกรณีที่ กปน. ลงคะแนนแทนผู้ใช้สิทธิ โดยที่ไม่มีการร้องขอใดๆ จากผู้ใช้สิทธิ จนทำให้เกิดข้อพิพาทกัน

2) ความสนใจของ กปน. ในการอบรมของอำเภอลานกระบือ เมื่อการอบรมดำเนินไปได้ประมาณ 30 นาที กปน. ผู้ที่เข้ารับการอบรมจำนวนไม่น้อยที่ไม่ให้ความสนใจขณะวิทยากรบรรยาย มีการเล่นโทรศัพท์ พูดคุยกัน และเดินออกจากสถานที่อบรม

3) สถานที่และจำนวน กปน. สถานที่ฝึกอบรมเป็นหอประชุมประจำอำเภอ มีลักษณะเปิดโล่ง ทำให้เสียงบรรยายของวิทยากรถูกรบกวนจากเสียงภายนอก นอกจากนี้ พบความแตกต่างระหว่างการจัดอบรมของอำเภอไทรงามและอำเภอลานกระบือ คือ อำเภอไทรงามที่จัดอบรมให้ กปน จำนวน เพียง 20 หน่วย ความสนใจของ กปน มีมากกว่า และเสียงรบกวน (เสียงจากการคุยกันของ กปน. และเสียงจากภายนอก) ระหว่างการบรรยายของวิทยากรมีน้อยกว่าการจัดอบรมที่อำเภอลานกระบือซึ่งมีการจัดอบรมให้ กปน. มากถึง 40 หน่วยเลือกตั้ง

4) ปัญหาอุปสรรคของ กปน. ในการอบรมที่อำเภอลานกระบือ พบว่า ประธาน กปน. บางคนไม่ได้เอาโทรศัพท์ของตนเองไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อการอบรมในช่วงการส่งข้อมูลผ่านแอพพิเคชั่นไลน์ อีกทั้งยังพบว่า ประธานบางคนไม่ชอบใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ และไม่สามารถใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ได้
นอกจากนี้ จากการให้ข้อมูลของเพื่อน กปน. บางคนเป็นข้าราชการครูต้องไปเป็น กปน. ในหน่วยเลือกตั้งที่ไม่ใช่หน่วยที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้มีความยากลำบากในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่และไปใช้สิทธิ

2. การรณรงค์และการประชาสัมพันธ์
มีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมีการจัดรณรงค์ในแต่ละอำเภอ ในวันที่ 17 – 19 กุมภาพันธ์ อาสาสมัคร We Watch ได้ร่วมสังเกตการณ์การจัดรณรงค์ของอำเภอพรานกระต่าย วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พบว่า มีผู้เข้าร่วมรณรงค์ประมาณ 500 คน ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และลูกเสือ เนตรนารี โดยทำการเดินรณรงค์ในพื้นที่ใกล้ที่ว่าการอำเภอ รวมระยะทางไปกลับประมาณ 4 กิโลเมตร ส่วนด้านการประชาสัมพันธ์ มีการประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน และจากการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ของ กกต. กำแพงเพชร มีการประชาสัมพันธ์ผ่านศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) ตามหมู่บ้านทั้ง 5 อำเภอด้วย
ข้อสังเกตของอาสาสมัคร We Watch คือ การรณรงค์ของอำเภอพรานกระต่ายขาดการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ผู้เข้าร่วมเกือบทั้งหมดคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และ อปพร.
นอกจากนี้ อาสาสมัคร We Watch ได้เข้าไปดูบอร์ดประชาสัมพันธ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งแห่ง และเทศบาลตำบลหนึ่งแห่ง พบว่า องค์การบริหารตำบลดังกล่าวไม่มีการปิดประกาศประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งซ่อม ส่วนเทศบาลตำบลแห่งดังกล่าวแม้จะมีบอร์ดให้ผู้สมัครแต่ละเบอร์ติดโปสเตอร์หาเสียง แต่ไม่มีการปิดประกาศประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งซ่อมเช่นกัน

3. การส่งมอบหีบและอุปกรณ์การเลือกตั้ง
อาสาสมัคร We Watch สังเกตการณ์การส่งมอบหีบและอุปกรณ์การเลือกตั้งแก่ กปน. แต่ละหน่วย ของอำเภอพรานกระต่าย ณ หอประชุมอำเภอพรานกระต่าย วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่าการส่งมอบหีบและอุปกรณ์การเลือกตั้งให้แก่ กปน. ทั้ง 121 หน่วยเลือกตั้งของอำเภอพรานกระต่าย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

4. ความคิดเห็นของ กปน.
จากการสัมภาษณ์ กปน. จำนวน 15 คน พบว่า กปน. จำนวน 10 คน รู้สึกเบื่อที่จะทำหน้าที่ กปน. เนื่องจาก พวกเขาทำหน้าที่เป็น กปน. หลายครั้งแล้ว อีกทั้งพวกเขาให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าระยะเวลาในการปฏิบัติงานนานเกินไป กปน. คนหนึ่งบอกว่าบางครั้งหน่วยของตนดำเนินการส่งคืนหีบและอุปกรณ์การเลือกตั้งเสร็จสิ้นภายหลัง 21.00 น.
5. การเผยแพร่ข้อมูลของ กกต
อาสาสมัคร We Watch ได้รับความร่วมมือจาก กกต. เขต ในการขอสัมภาษณ์และขอข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นอย่างดี ส่วนข้อมูลการเลือกตั้งในเว็บไซต์ของ กกต. จังหวัดกำแพงเพชร ไม่มีการอัพเดทข้อมูล โดยเฉพาะไม่มีการเผยแพร่ผลการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 24 มีนาคม 2562 แบบเป็นทางการ

ความเป็นอิสระในการเลือกตั้ง

จากการสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทุกคนกล่าวว่าตนมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครคนใด ประชาชนผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งกล่าวว่า ครอบครัวของตน รวมถึงประชาชนในเขตเทศบาลที่ตนอาศัยอยู่ให้อิสระแก่สมาชิกในครอบครัวในการการตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่ตนเองชอบ
ส่วนผู้สมัครมีการหาเสียงในพื้นที่เพียงสองเบอร์ คือเบอร์ 1 และเบอร์ 3 โดยทั้งสองเบอร์มีการหาเสียงหลากหลายช่องทาง เช่น การปราศรัยแบบเวทีย่อย (ทั้งสองเบอร์ไม่มีการจัดเวทีปราศรัยใหญ่) รถหาเสียงประชาสัมพันธ์ตามหมู่บ้านต่างๆ หัวคะแนนในแต่ละหมู่บ้าน และการหาเสียงทางเฟซบุ๊กของผู้สมัครและพรรคการเมืองของผู้สมัคร
ข้อน่าสังเกตของอาสาสมัคร We Watch คือ พบความผิดปกติของการติดป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองใน 2 หมู่บ้าน หมู่บ้านแรกมีการติดป้ายหาเสียงเฉพาะของผู้สมัครเบอร์ 1 ส่วนอีกหมู่บ้านพบเพียงป้ายหาเสียงของผู้สมัครเบอร์ 3
อย่างไรก็ตาม จากการให้ข้อมูลของบุคคลสำคัญของพรรคการเมืองของผู้สมัครเบอร์ 3 พบว่ามีการติดตามในลักษณะคุกคามโดยกลุ่มชายตัดผมเกรียน และมีการโทรไปข่มขู่ผู้สมัครของพรรคตน นอกจากนี้ การปราศรัยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ผู้สมัครเบอร์ 3 ไม่ไปร่วมการปราศรัย โดยให้เหตุผลว่ากลัวว่าตนเองจะไม่ปลอดภัย

ความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง

พบพฤติการณ์ที่ส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างผู้สมัคร ดังต่อไปนี้
1. การซื้อเสียง ประชาชนผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ยอมรับว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีการแจกเงินจริง คาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการแจกเงินอีกเช่นเคย กรณีน่าสนใจ คือ ระหว่างที่อาสาสมัคร We Watch กำลังสัมภาษณ์เจ้าของร้านขายของชำ ชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นแม่เปียแชร์เข้ามาบริเวณหน้าร้าน เจ้าของร้านขายของชำจึงทักไปว่า “นั่นไงมาแล้ว เอาเงินมาแจกใช่ไหม แจกเท่าไหร่” ขณะที่ชาวบ้านคนดังกล่าวจะตอบกลับ ก็ได้สังเกตเห็นคนแปลกหน้าซึ่งเป็นอาสาสมัคร We Watch จึงปฏิเสธว่าไม่ได้มาแจกเงิน
ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อเสียงที่เป็นการยืนยันว่าในพื้นที่มีการซื้อเสียงทุกๆ การเลือกตั้ง คือ ข้อมูลจากอดีตนายกเทศบาลตำบลแห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลตัวเลขของการใช้จ่ายเงินในการลงแข่งขันรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีว่าต้องใช้เงินมากถึง 15 ล้านบาท
2. มีการทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ทั้งของเบอร์ 1 และเบอร์ 3 อาสาสมัครพบป้ายที่ถูกทำลาย จำนวน 3 ป้าย โดยสองป้ายเป็นของเบอร์ 3 ส่วนอีกหนึ่งป้ายเป็นของเบอร์ 1

ความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้ง

1. ความสนใจต่อการไปเลือกตั้ง
จากการสำรวจความสนใจต่อการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 70 คน ของทั้ง 5 อำเภอ พบว่า ทุกคนจะไปเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลหลากหลาย เช่น ต้องการเลือกคนที่สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น รักษาสิทธิต่าง ๆ ที่จะได้รับบริการจากรัฐ และต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย เป็นต้น
บางครอบครัวกระตือรือร้นอย่างมากให้สมาชิกในครอบครัวมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 6 คน มี 3 คน ทำงานอยู่จังหวัดใกล้เคียง คือ จังหวัดตาก ให้ข้อมูลแก่อาสาสมัคร We Watch ว่าทุกคนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งแน่นอน
2. ความคิดเห็นต่อการเมืองและการเลือกตั้ง
1) การตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ด้วยหลักเกณฑ์ที่หลากหลาย เช่น เลือกผู้สมัครจากนโยบายที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ดูจากการลงพื้นที่หาเสียงของผู้สมัคร ดูจากความเป็นกันเองและความง่ายต่อการเข้าถึงตัวผู้สมัครที่หากเมื่อประชาขนมีปัญหาก็จะง่ายต่อการขอความช่วยเหลือ ดูจากความตั้งใจ ดูจากประสบการณ์ในการทำงาน นอกจากนี้ ประชาชนผู้ให้ข้อมูลได้กล่าวถึงการตัดสินใจของประชาชนคนอื่นว่า บางคนอาจเลือกเพราะเงินซื้อเสียง ผู้สมัครคนใดให้เงินมากกว่าก็เลือกคนนั้น อย่างไรก็ดี ในประเด็นเรื่องการเลือกผู้สมัครจากจำนวนเงินนั้น มีข้อโต้แย้งจากผู้ให้ข้อมูลอีกคนว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งมีการซื้อสิทธิขายเสียงจริง แต่ประชาชนผู้รับเงินไม่ได้เลือกผู้สมัครที่ให้เงินหรือให้เงินมากกว่าเสมอไป เพราะพวกเขามีคนที่อยากเลือกด้วยเหตุผลต่างๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และคนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี
2) ความเบื่อหน่ายการเมือง ประชาชนผู้ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งบอกว่าตนเองเบื่อหน่ายการเมือง เพราะเลือกตั้งไปแล้ว นักการเมืองก็เข้าไปเถียงกันในสภา มีการประท้วงไล่รัฐบาล ผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นทางออกว่า ควรปล่อยให้รัฐบาลอยู่จนครบวาระเพื่อให้ทำงานเต็มที่ เลือกตั้งครั้งหน้าหากไม่พอใจก็เลือกคนใหม่เข้าไปแทน นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงนโยบายการหาเสียงของผู้สมัครว่าอาจทำไม่ได้จริง นักการเมืองสนใจประชาชนและเสนอนโยบายดีๆ ต่างๆ เพียงในช่วงที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ประชาชนผู้ให้ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งบอกว่าตนเองไม่เบื่อการเมือง และเมื่ออาสา We Watch ถามถึงการหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคน พวกเขาสามารถตอบได้ว่ามีการจัดเวทีปราศรัยวันใดและที่ไหนบ้าง
3) ความคาดหวังต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ มีทั้งประชาชนที่คาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น และประชาชนที่คาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ได้ช่วยอะไร โดยฝ่ายแรกมองว่าการเลือกคนที่ทำประโยชน์ให้คนในพื้นที่ได้ เช่น มีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำสำหรับเกษตรกรจะช่วยทำให้ประชาชนมีรายได้และมีชีวิตที่ดี ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าในภาพรวมทั้งประเทศ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศทุเลาลง

3. การติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมือง

ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ติดตามสถานการณ์ทางการเมือง โดยอธิบายเชื่อมโยงกับปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ เช่น ประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลมองว่าประชาชนมีเงินใช้จ่ายเพราะมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอันเกิดจากการสนับสนุนของพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล นอกจากนี้ มีการพูดถึงว่าการหลั่งไหลของประชาชนในการไปซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเรต เป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจของประเทศยังดี

ขณะที่ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมองว่า เศรษฐกิจขณะนี้ตกต่ำ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดรายได้ลดลง พ่อค้ารายหนึ่งกล่าวว่ารายรับรวมต้นทุนของเขาจากการขายสินค้าลดลงเกือบ 3 เท่าตัว เป็นเพราะรัฐบาลบริหารประเทศไม่ดี พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วงว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปประชาชนจะเดือดร้อนอย่างหนัก

4. ความขัดแย้งของประชาชนในการเลือกตั้ง

จากการที่อาสาสมัคร We Watch ได้นั่งฟังผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็น กปน. คุยกัน พบว่า มีผู้ใหญ่บ้านสนับสนุนผู้สมัครคนละเบอร์ โดยมีการพูดหยอกล้อกันเมื่อพบหน้ากันว่า “พวกเราไม่น่ามองหน้ากันไม่ติดเลย เป็นเพื่อนกันแท้ๆ เลือกตั้งผ่านไปคงจะดีขึ้น”

5. สื่อมวลชน

การลงพื้นที่ทำข่าวของสำนักข่าว จากการสังเกตของอาสาสมัคร We Watch พบว่ามีเพียงนักข่าวจากช่อง 8 และช่องเนชั่น ที่ลงพื้นที่ทำข่าวการหาเสียงของผู้สมัครและการรณรงค์ของ กกต.

Thanks for your feedback

You could also be interested in