Reports >

รายงานผลการสังเกตการณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 แทนตำแหน่งที่ว่าง (ในวันเลือกตั้ง วันที่ 22 ธันวาคม 2562)
General Election

รายงานผลการสังเกตการณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 แทนตำแหน่งที่ว่าง (ในวันเลือกตั้ง วันที่ 22 ธันวาคม 2562)

Share

(Thai Version)

(English Version)

We Watch เครือข่ายสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย ได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 แทนตำแหน่งที่ว่าง วันที่ 22 ธันวาคม 2562 จำนวน 75 หน่วยเลือกตั้ง (สังเกตการณ์ก่อนช่วงเปิดหน่วย ช่วงเปิดหน่วย และช่วงลงคะแนน จำนวน 75 หน่วย และสังเกตการณ์ช่วงปิดหีบและนับคะแนน จำนวน 28 หน่วย ) โดยใช้อาสาสมัคร 107 คน ทำการสังเกตการณ์ผ่าน 4 ช่องทางหลักคือ 1) การสังเกตการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้ง 2) การสังเกตการณ์แบบเคลื่อนที่ 3) การสังเกตการณ์ผ่านการถ่ายทอดสด และ 4) การสังเกตการณ์ผ่านช่องทางออนไลน์และการโทรศัพท์ วัตถุประสงค์ของการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ คือ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ และเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับใช้ในการนำไปผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการเลือกตั้ง

ผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง พบเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความไม่เป็นอิสระ ความไม่เป็นธรรม และระดับการมีส่วนร่วมที่ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเกิดขึ้น ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) สามารถจัดการการเลือกตั้งได้ลุล่วง แต่มีความบกพร่องหลายอย่าง

ข้อมูลการใช้สิทธิ และเรื่องร้องเรียน

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ทั้ง 271 หน่วย มีจำนวน 132,063 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 81,063 คน (ร้อยละ 61.38 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) แบ่งเป็นบัตรดี จำนวน 78,568 ใบ (ร้อยละ 96.92 ของผู้มาใช้สิทธิ)บัตรเสีย จำนวน 1,680 ใบ (ร้อยละ 2.07 ของผู้มาใช้สิทธิ) และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด จำนวน 815 ใบ (ร้อยละ 1.01 ของผู้มาใช้สิทธิ)
ผู้ชนะการเลือกตั้งคือ ผู้สมัครหมายเลข 2 นายสมศักดิ์ คุณเงิน พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 40,252 คะแนน ส่วนผู้สมัครที่ได้อันดับสองและสาม คือ ผู้สมัครหมายเลข 1 นายธนิก มาสีพิทักษ์ พรรคไทยรักไทย ได้คะแนน 38,010 คะแนน และ ผู้สมัครหมายเลข 4 นายสุทัศน์ ผลบุญ พรรคพัฒนาชาติ ได้คะแนน 306 คะแนน ตามลำดับ
เรื่องร้องเรียน มี 1 เรื่อง คือ พรรคเพื่อไทยร้องต่อ กกต. ประจำจังหวัดให้ย้ายกำนันตำบลบ้านเม็ง ซึ่งเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 17 ออกจากหน่วยเลือกตั้ง ด้วยข้อกล่าวหาวางตัวไม่เป็นกลาง กรณีเข้าคูหาและลงคะแนนแทนผู้ใช้สิทธิ
นอกจากนี้ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม จำนวน 3 กรณี คือ 1) กรณีธงโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครเลือกตั้งหมายเลข 2 ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานของพนักงานสืบสวนและไต่สวนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขอนแก่น 2) กรณี กปน. ยืนคุมเชิงดูผู้มีสิทธิเลือกตั้งขณะลงคะแนนในคูหา และ 3) กรณี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฉีกบัตรเลือกตั้ง (กระทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย) (สามารถดูคำชี้แจงของ กกต. ต่อเรื่องร้องเรียนและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นจากเว็บไซต์ของ กกต.)

ประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้ง (Efficiency)

กระบวนการจัดการเลือกตั้งส่วนใหญ่ ตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดหน่วยเลือกตั้งจนกระทั้งการประกาศผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 22 ธันวาคม 2562 กกต. และ กปน. ปฏิบัติงานได้ตรงตามระเบียบการทำงาน แต่พบข้อบกพร่องสำคัญที่อาจส่งผลให้การเลือกตั้งไม่มีความเป็นธรรม ดังต่อไปนี้
1. พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้งที่ปรากฏรายชื่อผู้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2528 จำนวนหนึ่งรายในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจส่งผลให้เกิดการสวมสิทธิโดยการมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้สิทธิแทนรายชื่อดังกล่าวได้
2. พบสองหน่วยเลือกตั้ง กปน. ไม่มีการแสดงหีบเลือกตั้งเพื่อให้ผู้มาใช้สิทธิได้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดอยู่ภายในหีบ และมิได้ดำเนินการให้ผู้มาใช้สิทธิลงชื่อเป็นพยานก่อนการเปิดให้มีการลงคะแนน อาจส่งผลให้เกิดการปิดบังกรณีมีบัตรที่ทำการลงคะแนนแล้วซุกซ่อนไว้ภายในหีบเลือกตั้ง
3. พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้งมีการเปลี่ยนตัวประธาน กปน. กะทันหัน โดยให้เหตุผลว่าประธานคนดังกล่าวป่วยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อาจส่งผลให้เกิดการสลับเอาบุคคลที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งมาทำหน้าที่แทน
4. มี 27 หน่วยเลือกตั้ง ที่ตั้งของหน่วยไม่เหมาะต่อการใช้สิทธิของผู้พิการและคนชรา เป็นหน่วยเลือกตั้งที่ถูกตั้งบนอาคารยกสูงที่ไม่มีทางลาดสำหรับผู้พิการและคนชราที่ใช้รถเข็น แม้จะมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของ กปน. ด้วยการช่วยยกรถเข็น ที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อ แต่นั่นมิใช่สิ่งที่ผู้มาใช้สิทธิควรได้รับ ผู้มาใช้สิทธิควรเข้าไปใช้สิทธิด้วยตนเองได้อย่างสะดวกมากกว่า นอกจากนี้ การไม่ตั้งหน่วยเลือกตั้งที่เหมาะสมดังกล่าวทำให้ผู้มาใช้สิทธิไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องร้องขอความช่วยเหลือจาก กปน. หรือผู้มาใช้สิทธิคนอื่นๆ ส่งผลให้ กปน. หรือผู้มาใช้สิทธิคนอื่น สัมผัสและพูดคุยกับผู้มาใช้สิทธิมากเกินไป อาจมีลักษณะของการชักจูงหรือโน้มน้าวให้เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งได้ง่ายขึ้น
5. พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้งไม่มีเอกสารประกาศรายชื่อเกี่ยวกับจำนวนบัตรก่อนการออกเสียงลงคะแนน (แบบ ส.ส. ๕/๕) ในสมุดระเบียบการปฏิบัติงานของ กปน. ที่ กกต. ส่งมอบให้ กปน. ทำให้ กปน. ไม่สามารถติดแบบ ส.ส. ๕/๕ บนกระดานหน้าหน่วยเลือกตั้งได้ อาจส่งผลให้มีการปิดบังจำนวนบัตรลงคะแนนและจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรณีที่มีการส่งมอบบัตรลงคะแนนเกินกว่าจำนวนที่ควรจะเป็น ซึ่งบัตรลงคะแนนดังกล่าวอาจถูกนำมาใช้เพื่อลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ
6. พบสี่หน่วยเลือกตั้งไม่มีการติดประกาศเกี่ยวกับจำนวนบัตรก่อนการออกเสียงลงคะแนน (แบบ ส.ส. ๕/๕) (โดยหนึ่งในนั้นเป็นหน่วยเลือกตั้งตามข้อ 5 อย่างไรก็ดี มีหนึ่งหน่วยเลือกตั้งที่อาสาสมัคร We Watch ได้ทักทวง และ กปน. ได้ดำเนินการติดประกาศในเวลาต่อมา) อาจส่งผลให้มีการปิดบังจำนวนบัตรลงคะแนนและจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรณีที่มีการส่งมอบบัตรลงคะแนนเกินกว่าจำนวนที่ควรจะเป็น ซึ่งบัตรลงคะแนนดังกล่าวอาจถูกนำมาใช้เพื่อลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ
7. มีหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง กปน. พับ และหย่อนบัตรลงคะแนนให้ผู้มาใช้สิทธิบางคน อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของผู้ใช้สิทธิ เนื่องจาก เป็นพฤติกรรมทางจิตวิทยาที่มีแนวโน้มว่าเป็นการสร้างความกลัวหรือวิตกกังวลแก่ผู้มาใช้สิทธิ
8. พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้งไม่มีการติดประกาศเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งเมื่อเสร็จสิ้นการออกเสียงลงคะแนน (แบบ ส.ส. ๕/๗) อาจส่งผลให้เกิดการปิดบังจำนวนบัตรที่ถูกใช้ลงคะแนนและจำนวนบัตรที่ยังมิได้ถูกใช้ การปิดบังดังกล่าวอาจเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง
9. พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้งหีบบัตรไม่มีแถบซีลล็อคพลาสติกและลายเซ็น กปน. ก่อนการเปิดนับคะแนน อาจส่งผลให้มีการนำบัตรที่มีการลงคะแนนแล้วออกจากหีบหรือมีการนำบัตรที่ลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งลงไปแทนหรือเพิ่มเข้าไปในระหว่างช่วงการลงคะแนน
10. พบสี่หน่วยเลือกตั้งไม่มีการนับจำนวนบัตรที่ไม่ได้ใช้ลงคะแนน เพื่อตรวจสอบว่าบัตรมีจำนวนครบถ้วน เกิน หรือเกิดการสูญหายหรือไม่ กปน. ดำเนินการเพียงนำผลรวมของตัวเลขจำนวนบัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ลบด้วยจำนวนบัตรลงคะแนนที่ได้รับมอบ อาจส่งผลให้เกิดการใช้บัตรลงคะแนนเกินจำนวนเพื่อเป็นคุณแก่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง
11. พบห้าหน่วยเลือกตั้งไม่มีการทำลายบัตรที่ไม่ได้ใช้ลงคะแนน อาจส่งผลให้เกิดการนำบัตรลงคะแนนดังกล่าวไปลงคะแนนเพิ่มให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งในช่วงระหว่างการรวบรวมผลคะแนนของเขตเลือกตั้ง

ความเป็นอิสระ (Free)

พบเหตุการณ์ที่อาจส่งผลต่อความไม่เป็นอิสระในการเลือกตั้ง จาก 2 สาเหตุ ดังต่อไปนี้
1. เหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำของ กปน.
1) พบสามหน่วยเลือกตั้งไม่มีฉากกั้นหลังคูหาเลือกตั้ง อาจส่งผลให้การลงคะแนนของผู้ที่กำลังใช้สิทธิไม่เป็นความลับ
2) พบห้าหน่วยเลือกตั้งมีการปล่อยให้คนที่ไม่ใช่ กปน. เข้าไปในหน่วยการเลือกตั้งและพูดคุยกับ กปน. และผู้มาใช้สิทธิ ผู้สังเกตการณ์ให้ข้อมูลว่าบุคคลที่เข้าไปในหน่วยเลือกตั้งดังกล่าว มีพฤติกรรมในเชิงจิตวิทยาที่เป็นการกดดันให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง
3) พบเจ็ดหน่วยเลือกตั้งมี กปน. ไปยืนดูผู้มีสิทธิเลือกตั้งขณะลงคะแนน กรณีหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง จากการสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์ พบว่า กปน. อย่างน้อย 2 คนเข้าไปยืนดูการลงคะแนนของผู้มีสิทธิถึง 14 คน แม้ผู้สังเกตการณ์ได้ทักท้วงหลายครั้งในระหว่างนั้น แต่ กปน. ที่ถูกทักท้วงยังคงปฏิบัติเช่นเดิม การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ใช้สิทธิมีความกดดันในการลงคะแนน
2. เหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำของผู้สนับสนุนผู้สมัคร
1) พบ 14 หน่วยเลือกตั้งมีคนมาสอดส่องผู้มาใช้สิทธิ และมีการพูดคุยกับผู้มาใช้สิทธิหลายคนทั้งก่อนและหลังการลงคะแนน เป็นพฤติกรรมที่สร้างความกดดันต่อผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนอย่างไม่เป็นอิสระ
2) พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้งมีคนรอจดชื่อผู้มาใช้สิทธิภายหลังจากลงคะแนนเสร็จ ผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่ากรณีนี้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าบุคคลดังกล่าวกำลังกดดันให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง

ความเป็นธรรม (Fair)

พบเหตุการณ์ที่อาจส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
1. มี 14 หน่วยเลือกตั้งพบโปสเตอร์และอุปกรณ์การหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งใกล้หน่วยเลือกตั้ง (ห่างจากหน่วยเลือกตั้งน้อยกว่า 100 เมตร) และพบว่าทุกหมู่บ้านยังคงมีโปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครติดอยู่ ทำให้ผู้สมัครซึ่งเป็นเจ้าของโปสเตอร์ดังกล่าวได้เปรียบคู่แข่งจากการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งที่ห้ามมิให้มีการหาเสียงหลัง 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง
2. พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง มีบ้านหลังหนึ่งใกล้หน่วยเลือกตั้ง หน้าบ้านปักธงหาเสียงของผู้สมัครคนหนึ่ง มีผู้มาใช้สิทธิเดินเข้าออกบ่อยจนผิดสังเกต จากพฤติการณ์ดังกล่าวผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่าอาจมีการโน้มน้าวหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะให้เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง อันเป็นการกระทำที่สร้างความได้เปรียบคู่แข่งจากการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งที่ห้ามมิให้กระทำการหาเสียงหรือโน้มน้าวให้เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งในวันเลือกตั้ง
3. พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง กปน. เข้าไปในคูหาและทำการลงคะแนนแทนผู้ไปใช้สิทธิที่เป็นคนแก่นั่งรถเข็น (กรณีเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยร้องเรียนต่อ กกต.) ต่อมา ผู้ใช้สิทธิคนดังกล่าวไปแจ้งความดำเนินคดีกับ กปน. คู่กรณี เนื่องจากตนมิได้ร้องขอให้ใครกระทำการลงคะแนนช่วย และการลงคะแนนดังกล่าวไม่ตรงกับความต้องการของตน ภายหลัง กปน. คู่กรณีปฏิเสธและแจ้งความดำเนินคดีกับผู้มีสิทธิคนดังกล่าว รวมถึงแจ้งความดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวทำให้ตนเสียหาย แม้กรณีนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนและไต่สวนของ กกต. แต่ได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามต่อการปฏิบัติงานที่แสดงถึงความไม่เป็นธรรมของ กปน. ไปแล้ว

การมีส่วนร่วม (Participatory)

พบเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
1. กกต. ประจำอำเภอมัญจาคีรี ไม่ประกาศและติดประกาศผลการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบผล ดำเนินการเพียงส่งผลคะแนนผ่านทางอีเมลให้กับ กกต. เขต 7 ส่งผลให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การรวมรวมผลคะแนนในพื้นที่ของตน
2. ป้ายประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของ กกต. เขต 7 ที่ปิดไว้ด้านหน้าอาคารอำนวยการการเลือกตั้ง ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนบัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีเพียงข้อมูลผลคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละหมายเลขได้รับ ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของผลคะแนนและการใช้บัตรลงคะแนนได้อย่างสะดวก
3. มีสี่หน่วยเลือกตั้งผู้สังเกตการณ์ไม่ได้รับอนุญาตให้สังเกตการณ์ อาจส่งผลให้ไม่มีผู้ใดทักท้วงหรือเป็นพยานในกรณีที่เกิดการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง
4. พบ 10 หน่วยเลือกตั้งไม่มีผู้สังเกตการณ์ระหว่างการนับคะแนน อาจส่งผลให้ไม่มีผู้ใดทักท้วงหรือเป็นพยานในกรณีที่เกิดการนับคะแนนหรือวินิจฉัยบัตรลงคะแนนผิดพลาด
5. มีหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง กปน. ไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ถ่ายรูปกระดานผลคะแนน ทำให้ผู้สังเกตการณ์ไม่ได้ข้อมูลผลคะแนนของหน่วยเลือกตั้งนั้นเพื่อนำมาตรวจสอบกับผลคะแนนที่ กกต. เขต ประกาศ และอาจส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนผลคะแนนเพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งในระหว่างการรวบรวมผลคะแนนของเขต
6. มีสื่อมวลชนเพียงบางสำนักลงพื้นที่ทำข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้บรรยากาศของการตรวจสอบการเลือกตั้งไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
7. ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย เพียงร้อยละ 61.38 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลดลงประมาณ ร้อยละ 10 เทียบกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 (จำนวนผู้มีสิทธิ 132,783 คน) สะท้อนถึงการดำเนินการที่ กกต. ควรให้ความสำคัญ เช่น การอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทำงานอยู่นอกพื้นที่ รวมถึงผู้ที่ทำงานในพื้นที่แต่ต้องทำงานในวันเลือกตั้ง ให้สามารถมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้

Thanks for your feedback

You could also be interested in