Reports >

รายงานผลการสังเกตการณ์สมุทรปราการ
Municipal Election

Share

(Thai Version)

(English Version)

รายงานผลการสังเกตการณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทรปราการ เขตเลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง วันที่ 9 สิงหาคม 2563

รายงานผลการสังเกตการณ์สมุทรปราการ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขตเลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง จัดขึ้นในวันวันที่ 9 สิงหาคม 2563 เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 6 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2561 และภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน We Watch เครือข่ายสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย ได้ทำการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในทุกการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในการเลือกตั้ง จ. สมุทรปราการ เขตเลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่างนี้ ทางเครือข่ายได้พบทั้งด้านดีในการจัดการการเลือกตั้งและความผิดปกติของการเลือกตั้งทั้งในด้านการจัดการและในส่วนของพรรคการเมือง ความผิดปกติที่พบหลายเรื่องเป็นกรณีที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งทุกครั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ We Watch ได้เน้นสังเกตการณ์ประเด็นความผิดปกติที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพื่อดูว่าความผิดปกติเหล่านั้นได้รับการแก้ไขหรือยังคงปรากฏให้เห็นในการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่หรือไม่ ทางเครือข่ายได้ทำการสังเกตการณ์ตั้งแต่ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง และในวันเลือกตั้ง โดยใช้การสังเกตการณ์เชิงลึกในพื้นที่อำเภอบางบ่อ และทีมอาสาสมัครสังเกตการณ์แบบเคลื่อนที่ ทำหน้าที่สังเกตการณ์ภายนอกหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ในวันเลือกตั้ง อาสาสมัครได้ร่วมสังเกตการณ์รวมทั้งหมดจำนวน 40 หน่วย ในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอบางบ่อ 1 ตำบล ของอำเภอบางพลี และ 1 ตำบล ของอำเภอบางเสาธง และสังเกตการณ์ตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดหีบ ระหว่างการลงคะแนน และช่วงปิดหีบ นับคะแนน ตลอดจนถึงการรวบรวมคะแนนและอุปกรณ์เลือกตั้ง ณ ที่ว่าการอำเภอบางเสาธง
จากการประกาศคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของ กกต. การเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ มีผู้มาใช้สิทธิคิดเป็นร้อยละ 59.20 หรือจำนวน 103,194 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 177,308 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งที่เป็นการจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ และถือเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบการการเลือกตั้งซ่อมครั้งอื่นที่ผ่านมา
จากการเก็บข้อมูลของอาสาสมัครนักสังเกตการณ์ พบว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงมีความผิดปกติปรากฏให้เห็นเช่นเดิม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ความผิดปกติด้านการซื้อเสียง

1.1 อาสาสมัครได้รับข้อมูลว่ามีการแจกเงินซื้อเสียงในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง โดยมีการให้เงิน จำนวน 300 บาท ที่หมู่บ้านเอื้ออาทร อำเภอบางบ่อ
1.2 อาสาสมัครพบเห็นการแจกเงินบริเวณใกล้หน่วยเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง ในตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ โดยหญิงอายุประมาณ 50 – 60 ปี เดินประกบหญิงอีกคนหนึ่งที่กำลังเดินออกจากหน่วยเลือกตั้งภายหลังใช้สิทธิแล้ว ใกล้ บริเวณสถานที่เลือกตั้ง หญิงคนแรกได้ยื่นธนบัตร 500 บาท จำนวนหนึ่งใบให้กับหญิงคนที่สอง ใน ขณะที่ในมือของหญิงคนแรกมีธนบัตรใบละ 500 บาทอีกหนึ่งใบอยู่ด้วย และเดินแยกย้ายไปเมื่อเห็นว่ามีบุคคลอื่นเฝ้ามองอยู่
1.3 มีการขนคนมาลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งในตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ โดยมีรถกระบะมีหลังคาและที่นั่งตรงกระบะ พาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10 คน มาที่หน่วยเลือกตั้งเพื่อมาลงคะแนน อาสาสมัครได้ตั้งข้อสังเกตกว่าอาจเป็นการซื้อเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่โดยสารมาในรถ

2. ความผิดปกติด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

2.1 สถานที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้งเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน อาสาสมัครของ We Watch รายงานว่า หน่วยเลือกตั้งถูกจัดขึ้นในสถานที่ที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน ทำให้ไม่มีประชาชนมาร่วมสังเกตการณ์ หรืออยู่ในระยะที่สามารถมองเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในหน่วยเลือกตั้ง เสี่ยงต่อการเกิดการทุจริตในหน่วยเลือกตั้ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน 2 หน่วยเลือกตั้งในตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ
2.2 อาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งถูกคุกคามจาก กปน. ด้วยการขอถ่ายรูปบัตรประชาชน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อติดตามการนำเสนอข้อมูลของอาสาสมัครที่อาจสร้างความเสียหายแก่ กปน. เหตุการณ์นี้ทำให้อาสาสมัครมีความกังวลต่อความอิสระและความปลอดภัยของตนเองในการสังเกตการณ์

3. ความผิดปกติด้านประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้ง

พบการกระทำผิดระเบียบการปฏิบัติงานของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในหลายหน่วยเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
3.1 ด้านหลังคูหาเลือกตั้งไม่มีกำแพงหรือฉากกั้น เป็นการจัดวางคูหาเลือกตั้งที่มิได้ให้ความสำคัญต่อการลงคะแนนแบบเป็นความลับของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
3.2 ก่อนการเปิดให้ลงคะแนน กปน. มิได้ติดประกาศเอกสาร ส.ส. 5/5 ซึ่งเป็นประกาศเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งก่อนการออกเสียงลงคะแนน ทำให้ขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับก่อนเริ่มการเปิดให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
3.3 กปน. ไม่ทำการเจาะทำลายบัตรที่ไม่ได้ถูกใช้ลงคะแนนก่อนการนับคะแนน ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้บัตรเหล่านั้นไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกหลังทำการปิดการลงคะแนนเสียง
3.4 กปน. ผู้ทำหน้าที่ขานคะแนนทำการหยิบบัตรเลือกตั้งในหีบและนำมาขานคะแนนเอง ทั้งนี้ตามระเบียบจะต้องมี กปน. อีกคนทำหน้าที่หยิบบัตรเลือกตั้งในหีบและยื่นให้ กปน. ผู้ทำหน้าที่ขานคะแนน การกระทำผิดเช่นนี้เสี่ยงต่อการทุจริตโดย กปน. ผู้ทำหน้าที่ขานคะแนน ด้วยการหยิบบัตรเลือกตั้งที่ทำการลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งที่ตนเองเตรียมไว้ขึ้นมาขานคะแนน
3.5 กปน. มิได้ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเซ็นลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือกำกับที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการสวมสิทธิเลือกตั้งโดยบุคคลอื่น
3.6 ป้ายชื่อประจำตัวของ กปน. มิได้เป็นป้ายชื่อที่ออกโดยหน่วยงานราชการ ไม่มีสัญลักษณ์ของหน่วยงาน ไม่มีลายเซ็นของผู้บริหารหน่วยงานกำกับ แต่เป็นเพียงการเขียนด้วยลายมือ ทำให้อาจเกิดความไม่น่าเชื่อถือและอาจเสี่ยงต่อการถูกบุคคลอื่นสวมรอยเป็น กปน. เพื่อทุจริตการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญหนึ่งที่ We Watch จำเป็นต้องเน้นย้ำ คือ กกต. ยังคงมิได้ทำการป้องกันและป้องปรามการทุจริตและความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงและการเก็บบัตรประชาชนดังที่มีรายงานโดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทางเครือข่ายอาสาสมัคร We Watch ยังคงยืนยันข้อเสนอให้ กกต. ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและป้องปรามกรณีทุจริตในการเลือกตั้งทุกรูปแบบในเชิงรุก ทบทวนกระบวนการร้องเรียน แจ้งเบาะแสทุจริตจากประชาชนให้สามารถทำการร้องเรียนได้โดยไม่เกิดความกังวลต่อความปลอดภัยของผู้ร้องเรียน รวมทั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง เพื่อชี้แจงและคลายข้อสงสัยต่อสาธารณะ และสร้างความเชื่อมั่นต่อผลการเลือกตั้งก่อนที่จะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการต่อไป

Thanks for your feedback

You could also be interested in