
เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ไม่มีชื่อผู้สมัคร ว่าอาจทำให้ผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนนอาจสับสนหรือลืมเบอร์ของผู้สมัครขณะลงคะแนน กกต. จึงหาวิธีแก้ไขปัญหานี้
.
วิธีแก้ไขปัญหา คือ กกต. จะจัดทำป้ายที่มีรายละเอียดของผู้สมัครแต่ละเบอร์ของทั้งบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชือ เพื่อแขวนหรือติดให้หันไปทางคูหาลงคะแนน เพื่อให้ผู้ที่กำลังใช้สิทธิเลือกตั้งมองเห็นชื่อและหมายเลขของผู้สมัครที่ตนต้องการลงคะแนนให้ โดยจะให้มีในทุกหน่วยเลือกตั้ง
.
วิธีนี้ถูกเปิดเผยโดย นาย แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต. โดยโพสต์ในเฟสบุคส่วนตัว ชื่อ “Sawaeng Boonmee” เมื่อวันที่ 11 เมษายน ว่า “การอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง… ตัวอย่างแผ่นไวนิลที่ติดเพิ่มเติม “ใน” หน่วยเลือกตั้ง “หน้า” คูหาลงคะแนน ขนาด 2×1 เมตร ซึ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระดับเหนือสายตาเมื่อมองจากคูหาลงคะแนน หากดูแผ่นไวนิลหน้าหน่วยแล้ว ยังไม่มั่นใจ เมื่อถึงคูหา เพียงเงยหน้ามอง ท่านจะเห็นแผ่นไวนิล ที่มีข้อมูล รายชื่อ สกุล รูปถ่าย หมายเลขของผู้สมัคร และพรรคการเมืองที่สังกัด อยู่หน้าคูหาทุกหน่วยเลือกตั้ง”
.
ถือว่าเป็นการพยายามแก้ไขปัญหาของ กกต. ที่ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม We Watch มีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ
.
1. ความคุ้มค่า ถ้าเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการทำบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ให้มีชื่อผู้สมัคร เทียบกับค่าใช้จ่ายในการทำป้ายนี้ แบบไหนคุ้มค่าและควรจะทำมากกว่ากัน We Watch ตั้งคำถามแบบนี้ เพราะเมื่อลองคำนวณค่าใช้จ่ายในการทำป้ายไวนิลนี้ พบว่า จะต้องใช้เงินจำนวนมาก ประมาณ 20 ล้านบาท (100 บาทต่อหนึ่งตารางเมตร x 2 ตารางเมตร x 100,000 หน่วย = 20,000,000 บาท)
.
2. การมองเห็น ขนาดป้ายกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ที่จะต้องใส่ตัวหนังสือ ตัวเลข และรายละเอียดต่างๆ เข้าไป จะช่วยทำให้ผู้ที่กำลังลงคะแนนมองเห็นได้ชัดหรือไม่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
.
3. ความแน่นอน จริงหรือไม่ที่ กกต. จะจัดให้มีป้ายนี้ในทุกหน่วยเลือกตั้ง เนื่องจาก เราสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของ กกต. ได้รับคำตอบว่า “กม (กฎหมาย) ไม่ได้กำหนดว่าต้องติด”