เกิดอะไรในทวิตภพ DEAL พลเมืองรวมพลังจับตาพฤติกรรมชวนสงสัยเลือกตั้ง 66

รายงานเปิดเผยครั้งแรกที่เพจเฟซบุ๊ก We Watch เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 12:21 AM

เปิดรายงาน การติดตามสถานการณ์เลือกตั้งในสื่อสังคมออนไลน์ วันที่ 1-17 เมษายน 2566 ของกลุ่มDEAL หรือ Digital Election Analytic Lab โครงการการติดตามกระบวนการเลือกตั้งในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นการรวมตัวแบบเฉพาะกิจของภาคประชาชน ระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน 2566 นำโดย WeWatch, MOVE, คณาจารย์และนักวิจัยสังคม, ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และประชาชนอาสาสมัคร 

ร่วมมือกันโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความสำคัญของพื้นที่กลาง พื้นที่การสื่อสารและการถกเถียงทางการเมืองที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งในฐานะของกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ปราศจากความรุนแรง

DEAL ได้ศึกษาความเคลื่อนไหวและกิจกรรมบนแพลตฟอร์ม Twitter พบว่ามีพฤติกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ข้ามพรรคและผู้สนับสนุนพรรคนั้นๆ รวมถึงสื่อมวลชน อาทิ เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ (Discrimination of Identity) ยั่วยุปลุกปั่นที่มุ่งร้ายให้เกิดความรุนแรงต่อผู้อื่น (Dangerous Speech and Incitement of Violence) รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อหวังผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครที่ถูกมุ่งเป้า (Doxxing) และการใช้เครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานปลอม (Network of Coordinated Accounts) 

รูปที่ 1: เครือข่ายบัญชีของพรรคการเมืองหลักสามพรรค ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันภายในและระหว่าง “ชุมชน”อย่างเข้มข้นมากกว่าเครือข่ายพรรคการเมืองอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า หรือมุ่งหาเสียงในโลกออฟไลน์มากกว่าออนไลน์รายงานฉบับนี้ยังไม่เปิดเผยชื่อของพรรคการเมืองเหล่านี้ ที่มา: Twitter API และทีมนักวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ของ DEAL

ข้อสังเกตเบื้องต้นต่อพฤติกรรมของเครือข่ายบัญชี

  • จากรูปข้างต้น ตีความได้ว่ากลุ่มบัญชีที่เกี่ยวข้องกับพรรค A และพรรค C โต้ตอบกันไปมาข้ามชุมชนอย่างคึกคัก เมื่อเทียบกับกลุ่มบัญชีที่เกี่ยวข้องกับพรรค B ซึ่งดูเหมือนคุยกันภายในกลุ่ม และมีลักษณะแยกตัวออกจากเครือข่ายบัญชีของพรรค A และพรรค C
  • เมื่อเทียบกับพรรค B แล้ว ดูเหมือนพรรค A และพรรค C ใช้ Twitter ในการสื่อสารอย่างมาก โดยบัญชีTwitter ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก เป็นบัญชีทางการของพรรคและบัญชีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรค A รองลงพรรคคือบัญชีทางการของพรรค C ข้อมูลนี้ตีความได้หลายทิศทาง เช่น หากผู้ใช้ Twitter ส่วนใหญ่ในไทยคือประชากรอายุราว 20-35 ปีอาจแสดงว่าฐานเสียงของพรรค A คือประชากรกลุ่มนี้ซึ่งใช้ Twitter เพื่อสื่อสารกับพรรค ทีมตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่าบัญชีในเครือข่ายของพรรค A อย่างน้อยสามบัญชีใหญ่ (ให้สังเกตดีๆ ที่จุดสีเทาในวงกลมสีฟ้าข้างต้น) มีพฤติกรรมที่ผิดปกติจากการใช้งาน Twitter ของผู้ใช้ที่เป็นบุคคลทั่วไป คือมีลักษณะเป็นบัญชีที่ไม่พักผ่อน ตื่นตัวตลอดเวลาทั้งการโพสต์ รีโพสต์และการตอบกลับ บางบัญชีโพสต์แบบไม่มีช่วงพักตลอด 24 ชั่วโมง มากกว่า 300 โพสต์ เฉลี่ย 5 โพสต์ใน 1 นาทีทีมจึงตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นบัญชีของคนทั่วไป จะมีช่วงที่นอนหรือพักบ้างต่อให้เสพติดโซเชียลมีเดียแค่ไหนก็ตาม นอกจากนี้บัญชีต้องสงสัยของพรรค A มักแห่แหนกันตอบข้อความที่มาจากบัญชีทางการของพรรค A โดยมากข้อความเหล่านี้ให้กําลังใจและสนับสนุนพรรคเช่น ใช้การแสดงสัญลักษณ์ การสนับสนุนด้วยอีโมจิอย่างเดียวเท่านั้นและโพสต์ค่อนข้างถี่ ทั้งนี้อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นไปเพื่อต้องการเพิ่มยอดการมองเห็น (visibility) หรือไม่
  • ในทางกลับกัน พรรค B มีเครือข่ายชุมชนในTwitter ที่เล็กและหนาแน่นน้อยกว่าอีกสองพรรค และแต่ละบัญชีค่อนข้างกระจายตัว อาจแปลได้ว่าผู้ใช้ Twitter ส่วนใหญ่ในไทยมิใช่ “กลุ่มลูกค้า” หลักของพรรค B หรือหากมี “กลุ่มลูกค้า” หลักอยู่บ้าง ดูเหมือนพฤติกรรมของผู้ใช้บัญชีในเครือข่ายพรรค B ในช่วงแรกของการหาเสียงมี “ความเฉื่อย” ในการสื่อสาร ซึ่งต่างจากธรรมชาติของ Twitter อันเป็นพื้นที่หลักของคนรุ่นใหม่ซึ่งมักโต้ตอบไปมา จนสร้างบรรยาการการสนทนาทางการเมืองที่ร้อนแรงในบางครั้ง
  • แม้จะเล็กและ “เฉื่อย” แต่การที่พรรค B ยังคงปรากฎตัวบนเครือข่ายบัญชีใน Twitter อยู่ พาให้ตั้งข้อสงสัยต่อเหตุจูงใจประการอื่น เช่น อาจจะบัญชีเหล่านี้มุ่งบ่มเพาะชุดความคิดผู้ใช้ Twitter ที่อาจมีอุดมการณ์ใกล้เคียงกับพรรคแม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กก็ตาม หรือพยายามจุดกระแสในบางประเด็นเพื่อให้ผู้สนับสนุนพรรคกลุ่มเล็กๆ ใน Twitter ขยายประเด็นนี้ต่อในพื้นที่โซเชียลมีเดียอื่น เช่น Facebook LINE หรือ TikTok ซึ่งผู้สนับสนุนพรรค B ส่วนใหญ่ อาจนิยมใช้มากกว่า นอกจากนี้บัญชีต้องสงสัยในเครือข่ายของพรรค B มีอย่างน้อยสี่บัญชีใหญ่ (ให้สังเกตดีๆ ที่จุดสีม่วงเข้มในวงกลมสีม่วงข้างต้น) และแสดงพฤติกรรมบางประการที่ผิดปกติจากบัญชีผู้ใช้ Twitter ที่เป็นบุคคล เช่น บางบัญชีไม่โพสต์อะไรเลยตลอดทั้งวัน ในทางตรงข้ามบางครั้งก็โพสต์ถี่ๆ แบบไม่มีช่วงพัก ตลอด 24 ชั่วโมง บางบัญชีก็โพสต์มากกว่า 300 โพสต์โดยบัญชีที่ “ขยัน” ที่สุดมีจังหวะพักเพียง 23 วินาที โดยเนื้อหาของโพสต์จํานวนมากมักโจมตีพรรค A และ C และถูกส่งต่อไปยังเครือข่ายผู้สนับสนุนพรรค B อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันบางบัญชีที่ต้องสงสัยก็มุ่งโพสต์แต่ข้อความ “อวย” พรรค B

รูปที่ 2: “ความขยัน” โพสต์ของแต่ละบัญชีที่มีพฤติกรรมต่างจากบัญชีบุคคล แต่ละแท่งกราฟแทนหนึ่งบัญชี (ปิดชื่อบัญชีในรายงานชิ้นนี้) ความสูงต่ําของแต่ละแท่งกราฟสะท้อนจํานวนนาทีที่แต่ละข้อความโพสต์ห่างกัน บัญชีแรกที่แทบไม่เห็นแท่งกราฟเลยคือบัญชีที่ “ขยัน” มากที่สุดที่กล่าวไว้ข้างต้น คือโพสต์ทุกๆ 23 วินาทีทีมวิเคราะห์ว่ากราฟเจ็ดแท่งแรกซึ่งโพสต์ทุกๆ 23 วินาทีถึง 45 นาทีมีลักษณะที่ต่างไปจากบัญชีบุคคลทั่วไปที่มา: Twitter API และทีมนักวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ของ DEAL

  • เห็นได้ชัดว่า พรรค A มีผู้สนับสนุนจํานวนมาก โดยเอกลักษณ์ประการหนึ่งของบัญชีเหล่านี้คือ การเน้นรีทวิต ไลค์ตอบกลับ ในทางหนึ่งเราหลายคนก็มีพฤติกรรมเช่นนี้เวลาใช้โซเชียลมีเดีย แต่บัญชีของบุคคลทั่วไปมักจะมีรูปแบบของพฤติกรรมที่หลากหลาย เช่น มีการโพสต์เนื้อหา รีทวิต และตอบกลับข้อความคนอื่น แต่บัญชีผู้สนับสนุนของพรรค A หลายบัญชีมีพฤติกรรม “เชิงเดี่ยว” มากกว่ามีพลวัตแง่นี้จึงต่างจากพฤติกรรมของผู้สนับสนุนพรรค B และ พรรค C

ปรากฏการณ์การใช้โซเชียลมีเดียในสมรภูมิการเลือกตั้งได้รับความสนใจในโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พรรคการเมืองทั้งหน้าใหม่และเก่าสร้างบัญชีทางการของพรรค ขณะเดียวกันผู้สนับสนุนพรรคทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการต่างก็สื่อสารนโยบายพรรค ความชื่นชอบ (และไม่ชื่นชอบ) ในตัวบุคคล รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อมวลชนที่เริ่มหันจากการผลิตข่าวในโลกออฟไลน์มาเป็นโลกออนไลน์มากขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้หลายฝ่ายกังวลว่าสมรภูมิการเลือกตั้งในโซเซียลมีเดียที่ดุเดือดมากขึ้นอาจนําไปสู่การเผยแพร่ข่าวลวงหรือข่าวบิดเบือนการจงใจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งการระดมมวลชนในโลกออนไลน์ที่อาจกลายเป็นการคุกคามในโลกออฟไลน์ต่อพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือกลุ่มภาคประชาสังคมที่จับตามองการเลือกตั้ง กระทั่งความพยายามส่งอิทธิพลต่อความเห็นผู้เลือกตั้งที่อาจกระทบต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

ในไทยเอง อาจกล่าวได้ว่าสมรภูมิเลือกตั้งในโซเชียลมีเดียทวีความเข้มข้นขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้ง’62 โดยแปรผันตามความนิยมเสพสื่อออนไลน์ของประชากรไทย เช่นเดียวกับปรากฎการณ์ในโลกที่กล่าวไปข้างต้นการใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียในการหาเสียงมิใช่เรื่องผิดปกติ ทว่าสิ่งที่อาจกระทบกับความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้งคือการฉวยใช้พื้นที่ดังกล่าวและเทคโนโลยีในการโจมตีคู่แข่งในการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ เช่น เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ (Discrimination of Identity) ยั่วยุปลุกปั่นที่มุ่งร้ายให้เกิดความรุนแรงต่อผู้อื่น (Dangerous Speech and Incitement of Violence) รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อหวังผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครที่ถูกมุ่งเป้า (Doxxing) และการใช้เครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานปลอม (Network of Coordinated Accounts) ตลอดจนวิธีการหลากหลายเพื่อลดหรือเพิ่มแนวโน้มที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะเห็นข้อความของผู้สมัครคนหนึ่งหรือพรรคหนึ่งๆ ในหน้าฟีดของตน ปฏิบัติการเช่นนี้ มีพัฒนาการที่ซับซ้อนมากขึ้นในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการจัดการ ระดมสรรพกําลังพล และการออกแบบข้อความที่เป็นระบบ โดยมีทั้งตัวละครที่เป็นทางการและไม่ทางการ (คือมีลักษณะ “จิตอาสา”)

Digital Election Analytic Lab (DEAL) มุ่งติดตามพฤติกรรมข้างต้นในโซเชียลมีเดียที่อาจส่งผลต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้ง และพลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งโดยในรายงานฉบับแรกนี้เป็นบทวิเคราะห์เครือข่ายสังคม (Social Network Analysis) ของบัญชีทางการของพรรคการเมือง บัญชีทางการของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และครอบคลุมถึงบัญชีเครือข่ายในแพลตฟอร์มอันเป็นพื้นที่สนทนาทางการเมืองที่สําคัญของไทยในขณะนี้อย่าง Twitter ซึ่งบัญชีเหล่านี้ใช้โซเซียลมีเดียในสมรภูมิการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ และสะท้อนพฤติกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวปฏิสัมพันธ์ข้ามพรรคและผู้สนับสนุนพรรคนั้นๆ รวมถึงสื่อมวลชน ทีมงานตั้งข้อสังเกตด้านล่างเกี่ยวกับพฤติกรรมอันน่าสงสัยของบางบัญชี อันจะเป็นฐานให้ทีมได้วิเคราะห์แนวโน้มของบัญชีเหล่าในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งต่อไป

Link : https://thecitizen.plus/node/80530

You could also be interested in

News

แถลงการณ์ We Watch สรุปสังเกตการณ์เลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 Public Statement On the Observation of Thailand's General Election on 14 May 2023

News

พรุ่งนี้ถึงเวลาแล้วที่ We Watch และอาสาสมัครจะร่วมแถลงผลการสังเกตการณ์ “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป 2566” .จึงอยากเชิญชวนทั้ง ประชาชน อาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง สำนักข่าวเข้าร่วมงานแถลงผลการสังเกตการณ์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 เวลา 11.00 - 12.00 น. ณ ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

News

We Watch ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้ง ที่มีเป้าหมายผลักดันให้กิจกรรมทางการเมืองพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยนี้ ดำเนินไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ขอกล่าวขอบคุณประชาชนและอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งทั่วประเทศ ที่ร่วมกันลงแรงและร่วมใจ จนทำให้การรายงานกระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

News

จากสถานการณ์การเลือกตั้งล่วงหน้า และก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ พบว่ามีกลุ่มอาสาสมัครและภาคประชาชนให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในช่วงเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมามีอาสาสมัคร We Watch ประจำที่เลือกตั้งเบื้องต้นจำนวน 200 ที่ จากทั้งหมด 447 ที่