
วันที่ 10 ธันวาคม 2562 เครือข่าย We Watch ร่วมกับ คณะสังคมศาตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, และมหาวิลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาเมืองพิษณุโลก #พลเมืองสรรสร้างเมืองสองแควสร้างสรรค์ ณ เวทีกลางเมือง สวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ จ. พิษณุโลก เพื่อต้องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาร่วมกันสรรสร้าง อกความคิดเห็นในการพัฒนาพิษณุโลก ให้ประชาชนได้ร่วมถกแถลงและสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองพิษณุโลกจากวิทยากรของงาน
-คุณเปรมฤดี ชามพูนท อดีตนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก 5 สมัย
-คุณมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก
-คุณปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคอนาคตใหม่
-คุณแน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย
-คุณณัฐวุฒิ อุปปะ นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน
-ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ นักวิชาการอิสระ
-ผู้ดำเนินรายการ: ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
การเสวนาแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ช่วง
ช่วงที่ 1 วิสัยทัศน์-ทัศนะการพัฒนาเมืองก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น
คำถามที่ 1: ในเชิงของวิศัยทัศน์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่ในด้านต่าง ๆ การพัฒนาเมืองในทัศนะของท่านเป็นอย่างไร มีแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างไร

นายก อบจ.: มีวิสัยทัศน์เตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราหลีกเลี่ยงไม่พ้นว่าพิษณุโลกเป็นจุดยุทธศาสตร์ของประเทศมายาวนาน ในเรื่องการพัฒนาเมือง ส่วนตัวผมอยู่ในหน้าที่มา 7 ปี รอการเลือกตั้งเช่นกัน แต่จุดแข็งของพิษณุโลกคือการท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และการเกษตร ดูแลประชาชนในเรื่องปากท้อง ในส่วนของ อบจ. ก็ขอฝากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เพราะเราไม่ได้มีอำนาจ จากที่ได้พูดคุยกับต่างประเทศ การบริหารของต่างประเทศมีอิสระทางความคิด อิสระในการทำงาน แต่อยู่ภายใต้แนวคิดร่วม ถ้าเราจัดการตนเองได้ จะสามารถคิดอะไรสร้างสรรค์ได้อีกหลายอย่าง และเราได้ดูแลผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง เพราะภาคเหนือมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุดในประเทศไทย เราร่วมกับภาคีเครือข่ายส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ อยู่ตลอด เราได้พยายามพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว การดูแลผู้สูงอายุ การศึกษามาอย่างต่อเนื่อง
คุณเปรมฤดี ชามพูนท ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกและที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเทศบาลนครพิษณุโลก: เรากำลังสร้างเมืองน่าอยู่ มีการชี้วัดและประเมินเมืองเทศบาล เทศบาลเมืองพิษณุโลกเคยเป็นที่ 2 ของประเทศ และได้กลายเป็นที่ 1 ของการเป็นเมืองน่าอยู่ตามเกณฑ์ของคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในส่วนพื้นที่เล็ก อปท. ต่าง ๆ นั้น พิษณุโลกมี อปท. อยู่ในกลางเมือง เราทำเรื่องเมืองน่าอยู่ เรานิยามเมืองน่าอยู่ของ อปท. พิษณุโลก 5 ประเด็น คือ โครงสร้างพื้นฐานดี สิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี ผังเมืองดี และวัฒนธรรมดี เมืองที่ดีจะต้องมีผังเมืองที่ดี มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ดังนั้น การพัฒนาเมืองไม่ควรขัดกับวิถีชีวิตของคนที่หลากหลาย จะต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคน เช่น มีจุดผ่อนปรนหาบเร่แผงลอย ให้คนมีพื้นที่ทำงาน มีขั้นตอนการทำชุมชนและเมืองน่าอยู่ รวมถึงการสอบถามความต้องการของเด็กในชุมชนเทศบาล เช่น เด็กขอพื้นที่ให้มีส่วนร่วม มีสวนสาธารณะของเด็ก และสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนของเด็ก และส่วนของผู้สูงอายุ และจัดให้มีสถานบริการผู้สูงอายุ จะต้องสอดรับกับบริบทหน้าที่ของเทศบาล จะต้องมีงบประมาณ พื้นที่ แผน และขั้นตอน ในการทำงานที่เป็นรูปธรรม เมืองพิษณุโลกเคยติดอันดับเมืองน่าอยู่ในระดับอาเซียน แต่ต่อมาได้เจอปัญหาเรื่องการจัดการขยะแต่ก็กำลังมีการแก้ไขอยู่ด้วย
ส.ส. ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. เขต 1 พิษณุโลก: ในการที่ชาวพิษณุโลกเลือก ส.ส. ไปเป็นตัวแทน ผมมีหน้าที่ในการสื่อสาร ตั้งคำถาม หรือนำความเดือดร้อนของพิษณุโลกเข้าไปในสภาเพื่อตรวจสอบ ในการเปิดสภาแต่ละสัปดาห์ ส.ส. ใช้เวลาสองชั่วโมงแรกในการนำเสนอเรื่องน้ำประปา ทำถนน สร้างสะพานลอย เพราะเราไม่มีการกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่น การตัดสินใจถูกรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ดังนั้น การพัฒนาเมืองจะต้องมีการกระจายอำนาจและการจัดการงบประมาณ ให้เรามีอำนาจในการจัดการตนเอง เพราะเรื่องต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยและนักวิชาการทำวิจัยและนำเสนอ แต่เราไม่สามารถทำได้ เพราะงบประมาณต่าง ๆ ถูกดึงเข้าสู่ส่วนกลาง แต่จริง ๆ แล้วทุกเมืองควรจะต้องจัดการภาษีมาเป็นการพัฒนาในท้องถิ่นได้ เช่น การมีที่เติมน้ำดื่มฟรีให้ประชาชน เพราะท้องถิ่นต่าง ๆ อยู่ในสภาวะกลัวการตรวจสอบที่ไม่เป็นธรรม แต่การรวบอำนาจไปที่ส่วนกลางนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นได้เลยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา
เราจะต้องมีการตรวจสอบระหว่างผู้อนุมัติและผู้ใช้เงินที่อยู่ใกล้กัน เพราะนโยบายจากส่วนกลางหลาย ๆ ครั้งไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ท้องถิ่น ความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานเป็นอีกปัญหาหนึ่งของการพัฒนาเมือง แต่ไม่สามารถชี้ชัดเรื่องความรับผิดชอบจึงเป็นปัญหาจากโครงสร้างต่อการพัฒนาเมือง หากมีการกระจายอำนาจ มีสภาพลเมือง จะทำให้เรามีความสามารถในการพัฒนาเมืองได้มากขึ้น แต่กฎหมายต่าง ๆ ออกจากผู้มีอำนาจโดยไม่ได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ควรต้องเพิ่มบทบาทของพลเมืองในการออกกฎหมายในการตรวจสอบมากขึ้น
คุณแน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย : จากประสบการณ์ทำงานภาคประชาสังคมกว่า 20 ปี เราเจอปัญหาในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 5 เรื่อง เช่น การปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าไปในสถานบริการ ดิฉันเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ และระบบการบริหารจัดการโดยส่วนท้องถิ่น เราจะต้องดูศักยภาพในการจัดการบริหารตนเอง ในเรื่องเล็ก ๆ เช่น การเรียกร้องภาษีของส่วนจังหวัดให้กลับมาพัฒนาจังหวัดได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
อยากให้พัฒนาเรื่องการศึกษาของเด็ก ศักยภาพของครู มีหอพักนักศึกษาที่ราคาถูก มีการตรวจตราอย่างจริงจัง

อ.อรุณี กาสยานนท์ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ มรภ. พิบูลสงคราม :เป้าหมายหลักของการพัฒนาเมือง ต้องการให้มีเศรษฐกิจที่เติบโต ที่ลักษณะทางกายภาพที่ดีและปลอดภัย และคน จะสามารถผลักดันให้เมืองดำเนินต่อไป เราต้องเริ่มตระหนักเป้าหมายที่สาม คือ การสร้างการรับรู้ของคน หรือ urban common ให้คนเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเมืองนั้น เพราะการพัฒนาเมืองมาทีหลังชุมชนของมนุษย์ วันนี้เรามีประชากรในพิษณุโลกประมาณ 6.3 หมื่นคน แต่อาจมีประชากรแฝงมากกว่านั้น ดังนั้น การมีส่วนร่วมของคนต่อเมืองจะต้องถูกเน้นย้ำ เพื่อให้การพัฒนาเมืองสามารถเป็นไปได้ และจะต้องมีการพูดถึงพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีความหมายสองนัยยะ คือ เชิงสถานที่ และกระบวนการ คือเรื่องการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ ปกติเราเข้าใจเพียงการเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ แต่จริง ๆ แล้วเป็นพื้นที่ทุกที่หลังจากที่เราก้าวออกจากบ้านของเรา เมืองจึงมีหน้าที่ในการออกแบบให้ตอบรับและตอบสนองกับคน ตัวอย่างเช่น แนวคิดเมืองที่เดินได้จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก มีการจัดการพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่สาธารณะ จะทำให้เมืองมีประโยชน์ มีชีวิตมากขึ้น ทุกภาคส่วนจะต้องทำให้เกิดความโปร่งใส มีการออกแบบให้เป็นเมืองที่คนเดินได้จริง คนจะอยากเดินเพื่อจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นจะต้องกลับมาดูว่า เรามี urban common ในการพัฒนาเมืองร่วมกันแล้วหรือยัง ในอีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาเมืองในระดับจังหวัด อบจ. ได้กว่าวแล้วว่าเราเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญ แต่เรามองเห็นว่าเราเป็นเมืองของการบริการ เพราะเราบริการการศึกษา เราบริการโรงพยาบาล เรามีโรงแรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ แต่จุดขายเรื่องการท่องเที่ยวไม่ค่อยมี ดังนั้นเราต้องกลับมามองความเป็นไปได้ของเมืองอีกครั้งหนึ่ง
ณัฐวุฒิ อุปปะ นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน: ประเทศไทยต้องยอมรับความหลากหลายในความเป็นเมือง และการกระจายอำนาจทำให้ท้องถิ่นแข็งแรง ขณะนี้ท้องถิ่นได้รับการกระจายภาษีมาเพียง 30-40% ซึ่งไม่เพียงพอ แต่การพัฒนาเมือง จะต้องถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังเช่น ภาคประชาสังคมเคยผลักดันให้เกิด พรบ. เรื่องการจัดการเมืองด้วยตนเอง หากพิษณุโลกสามารถพัฒนาเมืองเองได้ จะสามารถพัฒนาการบริการได้อีกมากสำหรับคนพิษณุโลกการกลุ่มประชากรแฝง ที่ผ่านมา พรบ. พยายามขับเคลื่อนให้เกิดสภาพลเมือง แต่ รฐน. 60 ไม่ได้ให้อำนาจเรื่องทำตั้งสภาพลเมืองและมีเจตจำนงค์ในการลดอำนาจของท้องถิ่น อีกทั้งผมไม่เห็นด้วยกับการทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นควรมีการกระจายอำนาจ หยุดการพัฒนาที่ซ้ำซ้อน และมีการกระจายภาษีให้ท้องถิ่นมากขึ้น
วิธีการพัฒนาเมืองควรจะต้องมีสภาพลเมืองหรือ city forum และนักการเมืองจะต้องปรับตัว เพราะควรจะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วม การตรวจสอบ จะเข้มข้นขึ้นหลังจากนี้ รวมทั้งกระบวนการทางกฎหมายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติจะต้องมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริง และมีพื้นที่กลางที่ประชาชนและนักการเมืองท้องถิ่นสามารถร่วมผลักดันได้ เช่น หากประชาชนต้องการสร้างสะพาน แต่มี 8 หน่วยงานรับผิดชอบ ทำให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง ดังนั้น การกระจายอำนาจลงมาที่ท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ มิฉะนั้นเราจะยังเห็นการเสนอของ ส.ส. ในสภาทุกอย่างสัปดาห์

คำถาม 2: เลือก 1 นโยบายที่จำเป็นและเร่งด่วนสำหรับพิษณุโลกให้เจริญขึ้น
นายกอบจ. : การพัฒนาคน ซึ่งพัฒนาได้หลายด้าน ทั้งการมีส่วนร่วม ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ การศึกษา เป็นต้น แต่อำนาจหน้าที่ของ อบจ. มีขีดจำกัด จะทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะเมื่อคนเข้าใจบริบทของการบัฒนาบ้านเมือง คนจะเข้าใจเรื่องการพัฒนาสาธารณะมากกว่าเรื่องส่วนตัว
เปรมฤดี ชามพูนท: การพัฒนาให้พิษณุโลกเป็นเมืองท่องเที่ยว มีความสวยงาม สะอาดเพื่อให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ปรับปรุงเมืองทำตลิ่งตลอดริมแม่น้ำให้สวยงาม สะอาด เป็นจุดเช็คอินของนักเดินทาง
ปดิพัทธ์ สันติภาดา: สิ่งที่จำเป็นอย่างแรกจะต้องเป็นการเปลี่ยนรัฐบาล เพราะรัฐบาลนี้ไม่สนับสนุนการกระจายอำนาจ แต่นโยบายหลักที่อยากให้เกิดคือเรื่องการพัฒนาให้เป็นเมืองดิจิทัลและฐานข้อมูลที่สามารถเช็คจำนวนคน สภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้มีฐานข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาเมือง รวมทั้งการมีข้อมูลทางการเกษตรในพื้นที่ก็สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้ด้วยเช่นกัน เพราะหากเราพูดแต่ว่าอยากให้เป็น smart city แต่เราไม่มีฐานข้อมูลอะไรเลย แล้วเราจะพัฒนาต่อไปอย่างไร แต่ในความเป็นจริง เรามีศักยภาพด้านสถานศึกษาและการเก็บข้อมูลที่มีศักยภาพ อาจใช้เงินลงทุนในช่วงแรกมาก แต่เราจะสามารถใช้ข้อมูลต่อยอดการพัฒนาได้อีกหลายด้าน และเป็นฐานข้อมูลที่ควรเก็บในรายละเอียด ใช้ big data เข้ามาอธิบายข้อมูล
อ.อรุณี กาสยานนท์: การเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม เช่น การบริการ wifi ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้เข้าถึงช่องทางการร้องเรียนและข้อมูลต่าง ๆ ที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้
คุณณัฐวุฒิ อุปปะ: การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจ เพราะพัฒนาให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่สามารถตัดสินใจการพัฒนาพื้นที่ของตัวเองได้

คำถามที่ 3: ประชาชนจะมีกลไกติดตามผู้บริหารท้องถิ่นหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งหน้าได้อย่างไรบ้าง
นายกอบจ. : การติดตามตรวจสอบเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนควรตื่นตัวเพิ่มขึ้น เพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและช่องทางการเข้าถึงมีมากขึ้น ในการทำงานของ อบจ. มีช่องทางการติดตามทั้งเว็บไซต์และช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนติดตามได้ แต่ในการทำงานของท้องถิ่น สามารถตอบปัญหาของประชาชนได้มากขึ้นและง่ายขึ้น แต่การจัดการปัญหาต่าง ๆ จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอด้วย
คุณเปรมฤดี ชามพูนท: ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครท้องถิ่นก็จะต้องมีการกำหนดนโยบายตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง เมื่อประชาชนรับรู้เรื่องนโยบาย ผู้ได้รับเลือกตั้งจะต้องเสนอสภา เพื่อให้สภารับทราบสิ่งที่ต้องการบริหาร จากนั้นสภาจะประกาศขั้นตอนที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และให้สภาเสนอนายกเทศมนตรีประกาศใช้เป็นแผนสาธารณะ ประชาชนสามารถดูได้ว่าเทศบาล ส่วนท้องถิ่นมีแผนการทำงานอย่างไร นอกจากกระบวนการตรวจสอบแล้ว ยังมีกลไกให้ประชาชนสามารถปลอนายกท้องถิ่นหรือผู้บริหารได้
ปดิพัทธ์ สันติภาดา: กลไกที่ดีที่สุดคือการเลือกตั้ง ถือเป็นการตัดสินใจทางตรงของประชาชน แต่กว่าจะถึงการเลือกตั้งแต่ละครั้ง มีความพยายามที่จะติดตามโดยภาคประชาชน มีการรวบรวมการประชุมสภาของ ส.ส. ถ้าประชาชนตื่นรู้ นักการเมืองจะมีอำนาจน้อยลง เพราะกระบวนการตรวจสอบและการใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้งจะทำให้นักการเมืองจะต้องทำงานและยึดโยงกับประชาชน ทำงานอย่างมีคุณภาพ ฉะนั้น การตรวจสอบจะต้องมีข้อมูลที่ดี ในขณะที่ กกต. ไม่ให้ฐานข้อมูลเรื่องคะแนนการเลือกตั้งรายหน่วย ถือเป็นการจงใจปิดข้อมูล เราจะต้องหาช่องทางในการเพิ่มอำนาจการตรวจสอบของภาคประชาชน มีเวลาเช่น สภาพลเมือง เว็บไซต์ หรือการทำบล็อกเชนในการลงมติเลือกตั้งโดยไม่ต้องไปหน่วยเลือกตั้ง เช่น ในบางประเทศสามารถให้ผู้ป่วยลงคะแนนเสียงในโรงพยาบาลได้
อรุณี กาสยานนท์: การเข้าถึงการตรวจสอบ จะต้องเริ่มด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึง wifi เพื่อให้เข้าถึงช่องทางการตรวจสอบโดยเทคโนโลยี และเข้าถึงข่าวสารโดยไม่มีความเหลื่อมล้ำดังเช่นในปัจจุบัน
ณัฐวุฒิ อุปปะ : นอกเหนือจากการตรวจสอบตามช่องทางต่าง ๆ เราจะต้องพูดถึงประสิทธิภาพของการตรวจสอบ เพื่อปรับแก้กระบวนการตรวจสอบและสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบ ผลยังเชื่อเรื่องสัญญาพลเมือง เช่น การสร้างข้อผูกมัดให้กับ ส.ส. หรือการเป็นผู้แทนคนพิษณุโลก ในการมารับฟังและรายงานต่อประชาชนทุกเดือน เพื่อให้คนเห็นว่า ส.ส. ทำงานเพื่อพรรคการเมืองและเพื่อประชาชนในสัดส่วนเท่าไหร่ และกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น ผมมีข้อเสนอว่า ทุกพรรคหรือทุกผู้สมัครควรมีสมุดปกขาวออกมา และใช้กระบวนการสร้างเวทีก่อนการเลือกตั้งเพื่อรับปากกับประชาชนในการดำเนินการนโยบายต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานได้อย่างเต็มที่