แถลงการณ์เครือข่าย We Watch เรื่อง การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย

เครือข่าย We Watch จัดเสวนา “บทบาทการเลือกตั้งกับการสังเกตการณ์ในไทยเพื่อประชาธิปไตย” พร้อมออกแถลงการณ์ครือข่าย We Watch เรื่อง การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย  วันที่ 15 ธันวาคม ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ

ประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาประชาชนมีบทเรียนราคาแพงว่า สังคมใดที่ไม่มีกติกาที่ยอมรับร่วมกัน ในไม่ช้าก็เร็ว การใช้ความรุนแรงก็จะกลายเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การเปิดพื้นที่กลางสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างกระบวนการรองรับกับความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมจึงเป็นสิ่งที่มีสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

กระบวนการการเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของคนกลุ่มต่างๆในสังคม แต่ทว่าการเลือกตั้งต้องวางอยู่บนเงื่อนไขที่มีความความเป็นอิสระ (Free) ยุติธรรม (Fair) จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ (Regular) และมีความหมายต่อประชาชน (Meaningful) จึงจะเป็นการเลือกตั้งที่มีความชอบธรรม

ข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ได้กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่หลายฝ่ายต่างให้ความสนใจ เนื่องจาก หลังการเลือกตั้งปี 2554 สังคมไทยไม่ได้มีการเลือกตั้งมากว่า 7 ปีแล้ว (ทั้งนี้ไม่นับรวมการเลือกตั้งปี 2557 ที่ถูกประกาศให้เป็นโมฆะ) การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการบริหารประเทศได้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยคำถามและข้อสงสัยต่อความเชื่อมั่นว่าจะมีความเป็นอิสระ ยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เนื่องจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารที่มีทั้ง “มาตรา 44” “ประกาศคณะคสช.” และ “คำสั่งของหัวหน้าคสช.” คอยกำกับ

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ได้เกิดข้อท้าทายกับประชาชนและองค์กรสังเกตการณ์ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำอย่างไรการเลือกตั้งครั้งนี้จึงจะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง และเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว

ด้วยความท้าทายทั้ง 2 ประการ เราในนาม “We Watch” ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้งขอแถลงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อสาธารณะดังนี้

1. We Watch เป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่เชิดชู สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน มีบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นอิสระและยุติธรรม เป็นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนได้

2. เครือข่ายเรามีสมาชิกทั่วประเทศและจะขยายให้ครอบคลุมหน่วยเลือกตั้งให้มากที่สุด เพื่อทำให้เป็นเครือข่ายที่เป็นพื้นที่ของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบทางการเมืองด้านการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

3. We Watch เป็นเครือข่ายที่เป็นกลาง อันหมายถึง มีความเป็นอิสระจากฝ่ายต่างๆ เราเชื่อว่าความเป็นอิสระจะทำให้เรามีความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็น และสามารถนำเสนอข้อมูลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้อย่างตรงไปตรงมา

4. เครือข่ายของเรามุ่งทำหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งนี้ มิได้มุ่งหมายเพียงการตรวจสอบการเลือกตั้งว่ามีการทุจริต หรือเป็นไปอย่างอิสระและยุติธรรมหรือไม่เท่านั้น แต่ยังหมายถึง การสร้างบรรยากาศให้การเลือกตั้งกลายเป็นความหวังและมีผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

5. เราสนับสนุนให้พรรคการเมืองแข่งขันกันอย่างอิสระและเป็นธรรม หากพบว่าคู่แข่งขันและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งดำเนินการอย่างไม่ยุติธรรม พรรคการเมืองควรนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคมและเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข

6. เราจะนำเสนอข้อมูลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งสามช่วงประกอบด้วย ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงเลือกตั้ง และช่วงหลังการเลือกตั้ง สู่สาธารณะเพื่อทำให้ทุกคนสนใจ เห็นความเป็นไปของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ และช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะจากมุมมองของประชาชนเพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นอิสระและเป็นธรรมมากขึ้น

7. เราขอเชิญชวนให้ประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจต่างๆ ผู้หวงแหนในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะนี่เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ประชาชนได้ต่อสู้มาอย่างต่อเนื่องและจะสืบทอดต่อไปในอนาคต ทั้งนี้เพื่อทำให้สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนได้รับการรับรองและขยายสู่ประชาชนทุกคนและครอบคลุมทุกประเด็น การสังเกตการณ์ครั้งนี้เป็นการสร้างประสิทธิภาพให้การเลือกตั้งและกลไกการมีส่วนร่วมและตรวจสอบทางการเมืองของประชาชน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยและการรับประกันสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนต่อไป

8. เราขอเรียกร้องคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่และอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง ได้ทำหน้าที่โดยเป็นอิสระ และมีความกล้าหาญในการรักษาความเป็นอิสระของตน รวมถึงเร่งแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้การเลือกตั้งอาจไม่มีความชอบธรรม เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นความหวังของประชาชนได้

9. ขอชื่นชมข้าราชการทุกหน่วยงานที่วางบทบาทเป็นกลาง และกล้าหาญเพียงพอในการปฏิเสธการเข้าร่วมการกระทำที่จะทำลายความเป็นอิสระและยุติธรรมของการเลือกตั้ง

10. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยุดการแทรกแซงการเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งปราศจากข้อครหา และหลีกเลี่ยงหนทางแห่งความรุนแรงระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในห้วงเวลาหลังการเลือกตั้ง

15 ธันวาคม 2561
ณ ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

You could also be interested in

News

แถลงการณ์ We Watch สรุปสังเกตการณ์เลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 Public Statement On the Observation of Thailand's General Election on 14 May 2023

News

พรุ่งนี้ถึงเวลาแล้วที่ We Watch และอาสาสมัครจะร่วมแถลงผลการสังเกตการณ์ “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป 2566” .จึงอยากเชิญชวนทั้ง ประชาชน อาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง สำนักข่าวเข้าร่วมงานแถลงผลการสังเกตการณ์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 เวลา 11.00 - 12.00 น. ณ ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

News

We Watch ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้ง ที่มีเป้าหมายผลักดันให้กิจกรรมทางการเมืองพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยนี้ ดำเนินไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ขอกล่าวขอบคุณประชาชนและอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งทั่วประเทศ ที่ร่วมกันลงแรงและร่วมใจ จนทำให้การรายงานกระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

News

จากสถานการณ์การเลือกตั้งล่วงหน้า และก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ พบว่ามีกลุ่มอาสาสมัครและภาคประชาชนให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในช่วงเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมามีอาสาสมัคร We Watch ประจำที่เลือกตั้งเบื้องต้นจำนวน 200 ที่ จากทั้งหมด 447 ที่