Reports >

รายงานผลการสังเกตการณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง (ในวันเลือกตั้ง 23 กุมภาพันธ์ 256
Municipal Election

รายงานผลการสังเกตการณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง (ในวันเลือกตั้ง 23 กุมภาพันธ์ 256

Share

(Thai Version)

(English Version)

รายงานผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง (ในวันเลือกตั้ง 23 กุมภาพันธ์ 2563)

We Watch เครือข่ายสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย ได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 47 หน่วยเลือกตั้ง จากทั้งหมด 296 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบด้วย หน่วยเลือกตั้งใน 13 ตำบล ของทั้ง 5 อำเภอ (สังเกตการณ์ก่อนช่วงเปิดหน่วย ช่วงเปิดหน่วย และช่วงลงคะแนน จำนวน 35 หน่วย และสังเกตการณ์ช่วงปิดหีบและนับคะแนน จำนวน 12 หน่วย) โดยใช้อาสาสมัคร จำนวน 43 คน ทำการสังเกตการณ์ผ่าน 4 ช่องทางหลักคือ 1) การสังเกตการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้ง 2) การสังเกตการณ์แบบเคลื่อนที่ 3) การสังเกตการณ์ผ่านการถ่ายทอดสด และ 4) การสังเกตการณ์ผ่านช่องทางออนไลน์และการโทรศัพท์ สังเกตการณ์ตั้งแต่เวลา 06.30 น. ถึง 23.00 น. วัตถุประสงค์ของการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ คือ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ และเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับใช้ในการนำไปผลักดันให้เกิดการพัฒนาการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย

ผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง พบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความราบรื่นพอสมควร ข้อบกพร่องเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการจัดการเลือกตั้ง ความเป็นอิสระ ความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนและสื่อมวลชน ยังปรากฏให้เห็น แม้มีจำนวนที่น้อยแต่เป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข

ข้อมูลการใช้สิทธิ และเรื่องร้องเรียน

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดกำแพงเพชร ทั้ง 296 หน่วย มีจำนวน 144,579 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 90,060 คน (ร้อยละ 62.29) บัตรดี จำนวน 84,779 ใบ (ร้อยละ 94.14) บัตรเสีย จำนวน 2,800 ใบ (ร้อยละ 3.11) และบัตรไม่เลือกผู้ใด จำนวน 2,481 ใบ (ร้อยละ 2.75)
บัตรที่ได้รับจัดสรรมี จำนวน 147,760 ใบ บัตรที่ใช้ จำนวน 90,060 ใบ ส่วนบัตรที่เหลือมี จำนวน 57,700 ใบ
ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ผู้ชนะการเลือกตั้งคือ ผู้สมัครหมายเลข 1 นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 45,687 คะแนน ส่วนผู้สมัครที่ได้อันดับสองและสาม คือ ผู้สมัครหมายเลข 3 นายกัมพล ปัญกุล พรรคเพื่อไทย ได้ 37,989 คะแนน และ ผู้สมัครหมายเลข 2 นายอิทธิพล แตงเล็ก พรรคภาคีเครือข่ายไทย ได้ 1,103 คะแนน ตามลำดับ
เรื่องร้องเรียน มี 2 ประเด็น คือ ประเด็นเกี่ยวกับการข่มขู่ผู้สมัคร และทำลายป้ายหาเสียง โดยมีการยื่นเรื่องร้องเรียน 3 เรื่อง คือ 1) จากผู้สมัครเป็นผู้ร้องเรียน 2) จากผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เป็นผู้ร้องเรียน และ 3) จากการมีโทรศัพท์ร้องเรียน ขณะนี้เรื่องร้องเรียนดังกล่าวกำลังอยู่ในกระบวนการสืบสวนของ กกต. แต่เบื้องต้น นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ชี้แจงว่ามีการตรวจสอบแล้วพบว่าบางเรื่องไม่พบความผิดปกติ

ประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้ง (Efficiency)

กระบวนการจัดการเลือกตั้งส่วนใหญ่ ตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดหน่วยเลือกตั้งจนกระทั่งการประกาศผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 กกต. และ กปน. ปฏิบัติงานได้ตรงตามระเบียบการทำงาน เช่น มีการแสดงหีบเลือกตั้งเพื่อให้ผู้มาใช้สิทธิได้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดอยู่ภายในหีบ มีการดำเนินการให้ผู้มาใช้สิทธิลงชื่อเป็นพยานก่อนการเปิดให้มีการลงคะแนน ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในหน่วยเลือกตั้ง มีการติดประกาศเอกสารที่เกี่ยวข้องบนกระดานประชาสัมพันธ์หน้าหน่วยเลือกตั้ง หีบบัตรมีแถบซีลล็อคพลาสติกและลายเซ็น กปน. และก่อนการเปิดนับคะแนนมีการทำลายบัตรที่ไม่ได้ใช้ลงคะแนนอย่างถูกต้อง แต่พบข้อบกพร่องสำคัญที่อาจส่งผลให้การเลือกตั้งไม่มีความเป็นธรรม ดังต่อไปนี้


1. มีสิบสองหน่วยเลือกตั้ง ที่ตั้งของหน่วยไม่เหมาะต่อการใช้สิทธิของผู้พิการและคนชรา เป็นหน่วยเลือกตั้งที่ถูกตั้งบนอาคารยกสูงที่ไม่มีทางลาดสำหรับผู้พิการและคนชราที่ใช้รถเข็น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของผู้ไปใช้สิทธิดังกล่าว


2. พบสองหน่วยเลือกตั้งไม่มีเอกสารประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง อาจส่งผลให้ผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนนผิด หรืออาจมีผลทำให้ผู้ไปใช้สิทธิถามผู้ไปใช้สิทธิคนอื่น ในกรณีที่หลงลืมหมายเลขของผู้สมัครที่ตนเองชอบ ซึ่งจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง นอกจากนี้ อาจเป็นช่องโหว่ให้ผู้สนับสนุนของผู้สมัครเจตนาอ้างความหลงลืมดังกล่าว เพื่อใช้ชักจูงผู้ไปใช้สิทธิคนอื่นลงคะแนนให้ผู้สมัครที่ตนสนับสนุนได้


3. พบแปดหน่วยเลือกตั้งไม่พบเอกสารตัวอย่างการกาบัตรลงคะแนน แม้ตามระเบียบของ กกต. มิได้ระบุให้ติดประกาศตัวอย่างการกาบัตรลงคะแนน แต่ตามมาตรฐานสากล การติดประกาศเอกสารนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะจะช่วยทำให้ผู้ไปใช้สิทธิรู้ลักษณะการกาบัตรลงคะแนนที่ถูกต้อง และที่สำคัญจะมีผลดีต่อการวินิจฉัยบัตรดี บัตรเสียในช่วงการนำผลคะแนน เนื่องจากผู้ไปใช้สิทธิที่ไปสังเกตการณ์การนับคะแนนจะได้ช่วยทักท้วงหากมีการวินิจฉัยบัตรลงคะแนนผิด


4. พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้งไม่มีการนับจำนวนบัตรที่ไม่ได้ใช้ลงคะแนน เพื่อตรวจสอบว่าบัตรมีจำนวนครบถ้วน เกิน หรือเกิดการสูญหายหรือไม่ อาจส่งผลให้เกิดการใช้บัตรลงคะแนนเกินจำนวนเพื่อเป็นคุณแก่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง


5. พบสองหน่วยเลือกตั้งที่ไม่ได้ติดประกาศเอกสารรายงานผลการนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(แบบ ส.ส. 5/18) ทำให้กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของการใช้บัตรลงคะแนน และผลคะแนนไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ ข้อมูลตามแบบ ส.ส. 5/18 จะถูกนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจำนวนบัตรก่อนการออกเสียงลงคะแนน ตามแบบ ส.ส. 5/5 และข้อมูลจำนวนบัตรเลือกตั้งเมื่อเสร็จสิ้นการออกเสียงลงคะแนน ตามแบบ ส.ส. 5/7 ที่ กปน. ต้องติดประกาศไว้บนกระดานประชาสัมพันธ์หน้าหน่วยเลือกตั้งเช่นกัน


6. มียี่สิบหกหน่วยเลือกตั้ง พบป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งใกล้หน่วยเลือกตั้ง (ห่างจากหน่วยเลือกตั้งในรัศมี 100 เมตร) และพบว่าทุกหมู่บ้านที่อาสาสมัคร We Watch ไปสังเกตการณ์ สี่สิบเจ็ดหมู่บ้าน ยังคงมีป้ายหาเสียงของผู้สมัครติดอยู่ ทั้งนี้ กกต. อนุญาตให้ผู้สมัครไม่ต้องปลดป้ายหาเสียงได้


ประเด็นนี้ยังเป็นข้อสงสัยของอาสาสมัคร We Watch ว่าทำไมกฎหมายและการวินิจฉัยของ กกต. ไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561มาตรา 79 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง แต่ กกต. เคยวินิจฉัยคำถามของพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังธรรมใหม่ เกี่ยวกับการปลดป้ายหาเสียง ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 24 มีนาคม 2562 ว่าไม่ต้องจัดเก็บแผ่นป้ายที่ใช้ในการหาเสียงก่อนช่วงเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง นอกจากนี้ ประธาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดกำแพงเพชร ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีการพบป้ายหาเสียงใกล้หน่วยเลือกตั้ง ว่าการสั่งให้ปลดป้ายหาเสียงที่อยู่ใกล้หน่วยเลือกตั้งขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของประธานหน่วยเลือกตั้ง

ความเป็นอิสระ (Free)

1. พบแปดหน่วยเลือกตั้งไม่มีฉากกั้นหลังคูหาเลือกตั้ง อาจส่งผลให้การลงคะแนนของผู้ที่กำลังใช้สิทธิไม่เป็นความลับ
2. พบสองหน่วยเลือกตั้งมีคนมาสอดส่องผู้มาใช้สิทธิ และมีการพูดคุยกับผู้มาใช้สิทธิทั้งก่อนและหลังการลงคะแนน เป็นพฤติกรรมที่สร้างความกดดันต่อผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนอย่างไม่เป็นอิสระ

ความเป็นธรรม (Fair)

พบหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง มีคนมานั่งหน้าหน่วยและชวนให้เลือกผู้สมัคร กล่าวคือ ในช่วงก่อนการเปิดหีบเลือกตั้ง เวลาประมาณ 07.40 น. ขณะที่ผู้มาใช้สิทธิต่อแถวรอลงคะแนนเลือกตั้ง ประมาณ 10 คน มีป้าคนหนึ่งมานั่งที่ม้านั่งติดกับแถวของผู้มาใช้สิทธิ และป้าคนดังกล่าวได้ชวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนให้ผู้สมัคร โดยพูดว่า “เลือกเบอร์อะไร เลือกเบอร์ … นะ” ซึ่งการชวนดังกล่าวมีเสียงดังมากพอที่จะทำให้ผู้มาใช้สิทธิที่กำลังต่อแถวอยู่ได้ยิน เป็นการกระทำที่สร้างความได้เปรียบให้แก่ผู้สมัครโดยการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง

การมีส่วนร่วม (Participatory)


อาสาสมัคร We Watch ได้รับอนุญาตและความร่วมมือจาก กปน. ของแต่ละหน่วยเลือกตั้งดีมาก มีเพียงหนึ่งหน่วยเลือกตั้งที่ กปน. เดินตามและถ่ายรูปอาสาสมัครตลอดการสังเกตการณ์ของอาสาสมัคร ทำให้อาสาสมัครรู้สึกไม่เป็นอิสระในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ มีข้อบกพร่องบางประการที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังต่อไปนี้


1. พบเก้าหน่วยเลือกตั้งไม่มีผู้สังเกตการณ์ระหว่างการนับคะแนน อาจส่งผลให้ไม่มีผู้ใดทักท้วงหรือเป็นพยานในกรณีที่เกิดการนับคะแนนหรือวินิจฉัยบัตรลงคะแนนผิดพลาด


2. มีสื่อมวลชนเพียงบางสำนักลงพื้นที่ทำข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้บรรยากาศของการตรวจสอบการเลือกตั้งไม่เข้มข้นเท่าที่ควร


3. ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย เพียงร้อยละ 62.29 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลดลงประมาณ ร้อยละ 11 เทียบกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 (จำนวนผู้มีสิทธิ 144,489 คน) สะท้อนถึงการดำเนินการที่ กกต. ควรให้ความสำคัญ เช่น การอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทำงานอยู่นอกพื้นที่ให้สามารถมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้

You could also be interested in