Media >

30-คำถาม-คำตอบ ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง(ตอนที่ 2 ระบอบประชาธิปไตยผู้แทนรัฐสภา )
30-คำถาม-คำตอบ ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง(ตอนที่1 การเลือกตั้งและซื้อสิทธิ์ขายเสียง )

Focus

30-คำถาม-คำตอบ ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง(ตอนที่ 2 ระบอบประชาธิปไตยผู้แทนรัฐสภา )

We Watch รวบรวมคำถามจากสังคมต่อระบบการเมือง เลือกตั้ง การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคำถาม ข้อสงสัยต่อระบอบประชาธิปไตย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 โดยมีทั้งหมด 30 คำถาม เช่น การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ ความหมายและการเลือกตั้งในสังคมไทยคืออะไร ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุนจริงหรือไม่ ?  และคำถามอีกมากมายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเราได้รวบรวมคำตอบจากนักวิชาการและที่ปรึกษาของ We Watch เพื่อทำความเข้าใจการเมือง ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง

โดยแบ่งเป็น 3 หมวด  1. การเลือกตั้งและซื้อสิทธิ์ขายเสียง 2.ระบอบประชาธิปไตยผู้แทนรัฐสภา 3. การรัฐประหารและอำนาจนอกระบบ

หมวดที่ 2 ระบอบประชาธิปไตยและผู้แทนรัฐสภา 

Q: ระบบผู้แทนสามารถแก้ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนได้จริงหรือไม่ อย่างไร?

A: การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนหลักๆ มี 2 รูปแบบ คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านผู้แทนทางการเมือง ภายใต้ระบบผู้แทน ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น การมีส่วนร่วมโดยตรงในการตรวจสอบการทำงานของผู้แทนทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐ และมีส่วนร่วมโดยตรงในการเสนอและคัดค้านกฎหมาย โดยที่ไม่ต้องมาตัดสินใจร่วมกันหมดทุกคนพร้อมกัน ซึ่งการมาประชุมพร้อมกันของประชาชนทั้งหมดสิบกว่าล้านคนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ถือว่าช่วยแก้ไขปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนภายใต้ข้อจำกัดนี้ได้ แต่ถ้าหากระบบผู้แทนไม่ตอบสนองต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนถือว่าระบบแบบนี้เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้การตอบสนองต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนดังกล่าวขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของผู้แทนทางการเมืองและความเข้มแข็งของประชาชนด้วย

ความรับผิดชอบของผู้แทนทางการเมืองและความเข้มแข็งของประชาชน ถูกพัฒนาได้ดีเมื่ออยู่ในการปกครองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นระบอบที่ผู้แทนทางการเมืองต้องฟังเสียงของประชาชน และภายใต้ระบอบนี้ประชาชนได้เรียนรู้และมีปฏิบัติการที่หลากหลายในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองกับผู้แทนทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้ในระบอบการปกครองแบบเผด็จการ

Q: ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ คืออะไร? 

A: บ่อยครั้งที่เราได้ยินคำว่า “สิทธิต้องมาพร้อมกับหน้าที่” ในความหมายที่ว่าประชาชนไม่ควรอ้างเพียงสิทธิของตนเอง ควรรู้จักหน้าที่ที่ประชาชนต้องมีในฐานะพลเมืองที่ดีของชาติ นัยยะของความหมายนี้คือหน้าที่ที่ประชาชนต้องทำเพื่อชาติสำคัญกว่าสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การให้และใช้สิทธิ เสรีภาพมากเกินไปจะนำมาสู่ความเห็นแก่ตัวและทำลายผลประโยชน์ของชาติ นัยยะดังกล่าวแสดงออกในแนวคิดของการกำหนดรูปแบบทางการเมือง คือ การให้อภิสิทธิ์แก่บุคคล คณะบุคคล หรือสถาบันในนาม “คนดี” มีตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนเพื่อเข้ามารักษาผลประโยชน์ของชาติ ขณะเดียวกันก็จำกัดสิทธิการเลือกตั้งและสิทธิทางการเมืองด้านอื่นๆ ของประชาชนด้วย เช่น ห้ามวิพากษ์วิจารณ์คนในตำแหน่งและผู้มีอำนาจทางการเมืองดังกล่าว นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ

หากพิจารณาจากหลักประชาธิปไตยสากลจะพบว่า ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไม่สอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตย กล่าวคือ ประชาธิปไตยสากลกำหนดให้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนคือพื้นฐานสำคัญ บุคคล คณะบุคคล หรือสถาบันที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งและมีอำนาจทางการเมืองจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น และบุคคล คณะบุคคล หรือสถาบันทางการเมืองเหล่านั้นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ห้ามมิให้กระทำการที่เป็นการสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเด็ดขาด ซึ่งประชาธิปไตยแบบไทย ๆ มิได้มีหลักการเช่นนี้
แม้ แต่ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ จะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกนำมาใช้เพื่อการเข้าสู่ตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองอย่างได้ผล เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองและวิกฤตความชอบธรรมอันเกิดจากความบกพร่องและความเห็นแก่ตัวของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐประหารได้ใช้แนวคิดนี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของตน รวมถึงมีการร้องขอพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ เราจึงเห็นได้ว่ารูปธรรมหนึ่งของประชาธิปไตยแบบไทย ๆ คือ การรัฐประหาร และการใช้ข้ออ้างเรื่องพระราชอำนาจมาแทรกแซงการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

Q: คุณภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่งผลต่อคุณภาพของประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร?

A: มาตรฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อวัดระดับของความเป็นประชาธิปไตย มาตรฐานนี้รวมเอาเกณฑ์เรื่องระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนไว้ด้วย อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับมาตรฐานเรื่องนี้ชวนให้วิเคราะห์ถึงสถานะของมันได้ 2 แบบ คือ สถานะของการเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเป็นสังคมประชาธิปไตย กับสถานะที่เป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย สถานะแบบหลังนี้ถูกนำมาใช้มากกว่าแบบแรกในสังคมไทยเพื่อให้อภิสิทธิ์และจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชน

ในความเป็นจริง การเกิดขึ้นของประชาธิปไตยไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการศึกษาของคนในสังคม โดย ยกตัวอย่าง การเกิดขึ้นของประชาธิปไตยในประเทศที่เป็นต้นแบบของประชาธิปไตยทั่วโลก คือ ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่คนไม่ได้มีการศึกษาสูง หากแต่เป็นเรื่องที่เกิดจากความขัดแย้งของแต่ละยุคสมัย เช่น ในยุคที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถือเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้คนทั่วไปสามารถมีอำนาจปกครองได้มิใช่เพียงแค่คนไม่กี่คน

นอกจากนี้ หากเราวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส จะพบว่าความอดอยาก ความโหดร้ายและเรื่องอื้อฉาวของผู้ปกครอง และการก่อตัวของกลุ่มปัญญาชน เป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดการปฏิวัติมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย
ดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปตามมาตรฐานที่เราตั้งขึ้นในปัจจุบัน แต่แท้จริงแล้วประชาธิปไตยเป็นเรื่องของกติกาว่าจะจำกัดอำนาจของผู้ปกครองอย่างไร เพื่อให้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีส่วนร่วมทางการเมือง เกิดความพอใจอยู่ได้และมีความเป็นคนได้อย่างไร

Q: ประชาธิปไตยนำไปสู่ความเท่าเทียมได้จริงหรือไม่อย่างไร?

A:ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เรียกหาความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมกันในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงในรัฐสภาและในรัฐบาล แต่เรียกร้องให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สินเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน สูงต่ำดำขาว ร่างกายแข็งแรงหรือมีความพิการ เป็นหญิงหรือชายหรือข้ามเพศ ทุกๆ คนจะต้องได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันและรัฐจะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองทุกคนอย่างเสมอภาค นอกจากนั้น ระบอบประชาธิปไตยยังตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ทุกคนมีสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกันในการเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาและในรัฐบาล รวมทั้งความเท่าเทียมกันในการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองทางการเมือง

Q: ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของทรราชเสียงข้างมากจริงหรือไม่?

A:หลักการสำคัญของประชาธิปไตย คือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ต่างจากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบเผด็จการอื่น ๆ ที่อำนาจตัดสินใจทางการเมืองขึ้นอยู่กับเพียงบุคคลหรือคณะบุคคล ควรกล่าวด้วยว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยเกิดจากการต่อสู้ของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ต้องการขจัดการผูกขาดอำนาจของผู้นำ เพื่อให้การปกครองเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนมิใช่เพียงชนชั้นนำบางกลุ่มเหมือนเช่นในอดีต ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้วระบอบประชาธิปไตยเกลียดชังการผูกขาดอำนาจหรือทรราช

ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ใช้กระบวนการทางการเมืองในการบริหารประเทศโดยตัวแทนของประชาชน ทั้งนี้การใช้กระบวนการแบบตัวแทนดังกล่าวสอดคล้องกับข้อจำกัดด้านจำนวนประชาชนที่มาก ไม่สามารถให้ทุกคนมาประชุมหารือร่วมกันอย่างพร้อมเพียงกันได้ อย่างไรก็ดี การเป็นตัวแทนดังกล่าวยึดโยงอยู่กับประชาชน กล่าวคือ ประชาชนเป็นผู้เลือกตัวแทนเอง ขณะที่ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองตัวแทนเหล่านั้นต้องปฏิบัติตามนโยบายที่ตนได้ใช้ในการหาเสียง และต้องได้รับการตรวจสอบจากประชาชนได้ นอกจากนี้ตัวแทนดังกล่าว ยังสามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งได้ตามวาระ หากหมดวาระต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งใหม่ และในบางประเทศกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีกระบวนการป้องกันการผูกขาดอำนาจการปกครองหรือป้องกันการเป็นทรราชอยู่
หากจะกล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นระบอบทรราชเสียงข้างมาก แต่ในความเป็นจริงไม่เคยมีทรราชเสียงข้างมากอยู่จริงในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปรากฏเพียงทรราชเสียงข้างน้อยเท่านั้น กรณีของไทยก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีรัฐบาลบางรัฐบาลได้คะแนนเสียงจากประชาชนจำนวนมาก และพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลนั้นมีที่นั่งในสภาเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดได้ทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายกรณี รวมถึงจำกัดกลไกการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าทรราชเสียงข้างมากเพราะรัฐบาลดังกล่าวเป็นเพียงคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น หากจะกล่าวว่าเป็นทรราชก็ควรกล่าวได้เพียงว่าเป็นทรราชเสียงข้างน้อยเท่านั้น ในกรณีเช่นนี้หมายถึงประชาธิปไตยแบบตัวแทนยังมีข้อบกพร่องในแง่ที่ว่าประชาชนยังไม่สามารถควบคุมตัวแทนของตนเองได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชนต้องหาทางออกร่วมกันภายใต้วิถีทางประชาธิปไตย

Q: ประชาธิปไตยจะแก้ไขปัญหาระบบอำนาจนิยมได้หรือไม่?

A:หากย้อนมองประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของประชาธิปไตยทั่วโลกจะพบว่า ประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนในการจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง เนื่องจากการปกครองในระบอบเดิมผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ ผูกขาดอำนาจด้วยการสืบทอดอำนาจผ่านสายเลือดหรือสายสัมพันธ์ สร้างความมั่งคั่งให้แก่ตัวเอง ขณะที่ประชาชนทุกข์ยาก และการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาถูกปราบปรามอย่างรุนแรง การปกครองในลักษณะดังกล่าวคือการปกครองแบบอำนาจนิยม มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น ระบอบเผด็จการ และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบประชาธิปไตยสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนใหม่ คือกำหนดให้ผู้ปกครองมีความยึดโยงกับประชาชนทั้งเรื่องของการได้มาซึ่งผู้ปกครองและการรับผิดชอบต่อประชาชน หรือกล่าวได้ว่าอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน ผู้ปกครองคือตัวแทนของประชาชนที่ถูกเลือกโดยประชาชน การใช้อำนาจต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบบที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับรองความสัมพันธ์ดังกล่าว เช่น ระบบการเลือกตั้ง ระบบการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ระบบการตรวจสอบทางการเมือง และระบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในด้านต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มีการโต้แย้งว่าในระบอบประชาธิปไตยก็มีอำนาจนิยม มีการใช้เสียงส่วนใหญ่และกลไกทางการเมืองต่าง ๆ ของระบอบประชาธิปไตยเพื่ออ้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจหรือใช้อำนาจในทางมิชอบ การกล่าวเช่นนี้ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ควรพิจารณาด้วยว่าระบอบประชาธิปไตยรับรองและเอื้อให้เกิดการขยายสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์และเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการหยุดใช้ระบบอำนาจนิยมได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนชุมนุมเรียกร้อง การเผยแพร่ผ่านสื่อ การถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในที่สาธารณะและในระบบออนไลน์ เป็นต้น ต่างจากการปกครองแบบอำนาจนิยมที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การอธิบายข้างต้นทำให้เห็นว่า หากมีการใช้อำนาจนิยมโดยตัวบุคคลหรือคณะในระบอบประชาธิปไตย เราสามารถเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการแก้โดยใช้กลไกต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยได้ หากดำเนินการนอกกลไกของระบอบประชาธิปไตยหรือใช้วิธีแบบอำนาจนิยม เช่น การรัฐประหาร เข้ามาแก้ไข จะเป็นเพียงการกำจัดคนหรือคณะที่เป็นอำนาจนิยมกลุ่มหนึ่งและเปิดทางให้กับคนหรือคณะที่เป็นอำนาจนิยมอีกกลุ่มขึ้นมาแทนเท่านั้น โดยที่แบบหลังนี้เราไม่มีสิทธิ เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองได้เลย

Q: รัฐบาลมาจากระบอบไหนก็เหมือนกันจริงหรือไม่?

A: ระบอบการปกครองมีความสำคัญต่อการจำกัดอำนาจของรัฐบาล กล่าวคือ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน การใช้อำนาจของรัฐบาลจึงจำกัดโดยสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน ตรงกันข้ามกับระบอบเผด็จการที่รัฐบาลใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ

ระบอบประชาธิปไตยใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการทำให้รัฐบาลหรือผู้แทนของประชาชนผูกโยงอยู่กับประชาชน มีความรับผิดชอบและคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก บทบาทดังกล่าวของการเลือกตั้งเห็นได้จากการแข่งขันของนักการเมืองผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งต้องหาเสียงด้วยการนำเสนอต่อประชาชนว่าตนเองสามรถสร้างประโยชน์ รวมถึงจะส่งเสริมและรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร อีกทั้งการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งก็คำนึงถึงเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงผู้แทนและรัฐบาลยังดำเนินการผ่านการเลือกตั้งด้วย ผู้แทนหรือรัฐบาลที่ไม่มีศักยภาพในการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชนอาจจะไม่ได้รับเลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นอกจากนี้ ระบอบประชาธิปไตยยังมีกลไกทางการเมืองอื่น ๆ ที่อิงอยู่กับอำนาจของประชาชนคอยตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาล เช่น รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ส่วนในระบอบเผด็จการ การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งต่าง ๆ ทางการเมืองประชาชนไม่สามารถเลือก ถอดถอน หรือเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ยังไม่มีกลไกที่จะรับรองสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งการเรียกร้องเพื่อการเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ดังกล่าวกลับกลายเป็นเรื่องต้องห้าม โดยเฉพาะการเรียกร้องที่ท้าทายความชอบธรรมและเสถียรภาพของรัฐบาลเผด็จการ

จึงกล่าวได้ว่า หากเราได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เราสามารถกำหนดตัวผู้แทนทางการเมือง ตรวจสอบรัฐบาล และเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ หรือแม้กระทั่งดำเนินคดีกับรัฐบาลก็ได้ ในทางตรงกันข้าม หากเป็นรัฐบาลในระบอบอื่นหรือระบอบเผด็จการ ประชาชนอาจไม่มีสิทธิในการกระทำตามอำนาจต่าง ๆ ข้างต้นได้

Q: ประชาธิปไตยทางตรงเป็นคำตอบของสังคมไทยในการเมืองปัจจุบันได้หรือไม่ อย่างไร?

A: ประชาธิปไตยทั้งสองรูปแบบ คือ ประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยทางอ้อม มีหลักการพื้นฐานเดียวกัน คือ การเคารพและการรับประกันอำนาจทางการเมืองของประชาชน มีความต่างที่วิธีการในการใช้อำนาจเท่านั้น กล่าวคือ ประชาธิปไตยทางตรง ประชาชนตัดสินใจทางการเมือง มาประชุมปรึกษาหารือกันกันอย่างพร้อมเพรียง ส่วนประชาธิปไตยทางอ้อม ประชาชนเลือกตั้งตัวแทนทางการเมืองที่เสนอนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเพื่อทำหน้าที่บริหารและปกครองแทนประชาชน
อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยทางตรงมีข้อจำกัด คือ ด้วยจำนวนประชากรของประเทศมีหลายสิบล้านคนจึงไม่สามารถทำให้ประชาชนมาประชุมพร้อมเพรียงกันในการตัดสินใจทางการเมืองร่วมกันได้ จึงจำเป็นต้องมีตัวแทนทำหน้าที่ในการตัดสินใจทางการเมืองแทนประชาชน ทั้งนี้อำนาจในการทำหน้าที่ดังกล่าวผู้แทนของประชาชนต้องมีอำนาจจำกัดภายใต้ข้อผูกพันที่มีต่อประชาชน ดังนั้น การตัดสินใจทางการเมืองของผู้แทนต้องยึดหลักการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาพ และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก นอกจากนี้ แม้ว่าผู้แทนของประชาชนจะมีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองแทนประชาชน แต่ประชาชนเองก็สามารถแสดงออกทางการเมืองในการตัดสินใจทางการเมืองผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้เช่นกัน เช่น การลงประชามติ การเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือการแก้ไขปัญหาในสังคม และการชุมนุมประท้วง เป็นต้น ซึ่งการแสดงออกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยทางตรงดังกล่าวมีเหตุผลที่สำคัญคือ การร่วมตัดสินใจทางการเมืองที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนที่ผู้แทนไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้โดยลำพัง นั่นคือ ประชาธิปไตยแบบทางตรงมิได้ถูกตัดขาดไปจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน หากแต่มีการใช้ร่วมกันและมีความสำคัญต่อประชาธิปไตยแบบตัวแทนอีกด้วย

ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบใด แต่คืออำนาจของประชาชนถูกเคารพและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมหรือไม่ และในความเป็นจริงประชาธิปไตยทั้งสองแบบหนุนเสริมการทำงานกัน มิได้แยกขาดกันแต่อย่างใด

Q: ประชาธิปไตยสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่อย่างไร ในทางตรงกันข้ามรัฐประหารทำให้บ้านเมืองสงบจริงหรือไม่?

A: เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจหน้าที่ของประชาธิปไตยในการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง สอดคล้องกับการทำความเข้าใจที่มาของประชาธิปไตย กล่าวคือ ประชาธิปไตยมีที่มาจากการต้องการจัดการความขัดแย้งของคนในสังคม เนื่องจากการปกครองในระบอบเดิม คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นการปกครองของคนเพียงบางกลุ่ม นำมาสู่การตอบสนองผลประโยชน์ของเพียงผู้ปกครองเท่านั้น ขณะที่เกิดการกดขี่ ปราบปราม และสร้างความทุกข์ร้อนให้กับคนส่วนใหญ่ที่ถูกกีดกันออกจากอำนาจการปกครอง ภายหลังการลุกฮือของคนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่ดังเช่นการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789 นำมาสู่การกำหนดกติกาทางการเมืองเพื่อเป็นการรับประกันว่าต่อไปจะไม่เกิดการกีดกันการมีส่วนร่วมทางการเมืองอีกระบอบการปกครองที่ถูกนำมาใช้คือระบอบประชาธิปไตย โดยเครื่องมือหนึ่งของการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง การเลือกตั้งจัดการความขัดแย้งในเรื่องของการได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนในการปกครองประเทศ และเมื่อครบกำหนดเทอมของการเป็นผู้แทนก็มีการเลือกตั้งใหม่หากผู้แทนคนเดิมทำงานได้ไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน ประชาชนก็สามารถเลือกคนใหม่แทนได้ ถือเป็นกระบวนการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน

ในขณะที่เมื่อเราชำแหละดูโครงสร้างของการรัฐประหารจะพบว่า การรัฐประหารมีโครงสร้างแบบเดียวกับการปกครองในระบอบเดิม คือ มีเพียงคนบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงหรือทำการรัฐประหารได้ ขณะที่กีดกันคู่ขัดแย้งทางการเมืองและคนส่วนใหญ่ออกจากกระบวนการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ภายหลังการรัฐประหารนำมาสู่การกำจัดศัตรูทางการเมืองของคณะรัฐประหาร สร้างและแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองอันเป็นการกีดกันคนกลุ่มอื่น ๆ มิให้มีส่วนร่วมทางการเมืองหรือมีส่วนร่วมอย่างจำกัด นอกจากนี้ยังเป็นการกลับไปสู่บรรยากาศทางการเมืองแบบเดิมคือเกิดความไม่พอใจของคนส่วนใหญ่ที่ถูกกีดกันออกจากกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ทางเดียวที่ประชาชนจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการเมืองนี้ได้คือการลุกฮือ ซึ่งการลุกฮือจะมาพร้อมกับการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

ดังนั้น ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่รับประกันความเป็นธรรมและสันติวิธีในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองผ่านกฎ กติกาที่ทุกคนเข้าถึงอย่างความเสมอภาพกัน ตรงข้ามกับการรัฐประหารเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งที่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงได้และซ้ำร้ายเป็นตัวสร้างความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความรุนแรงอีกด้วย

Q: ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นเครื่องมือของการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ เพื่อเข้ามาแทรกแซงประเทศไทย จริงหรือไม่ อย่างไร?

A: ถือเป็นข้อเสนอที่น่ารับฟัง หากมองว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นเครื่องมือของลัทธิล่าอาณานิคมสมัยใหม่ ผ่านแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงไปพร้อมๆ กับแนวคิดระบบทุนนิยมและตลาดเสรี รวมทั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมักอ้าง กดดัน ไปจนกระทั่งบังคับในเรื่องของการเปิดเสรีในทุกๆ ด้าน แต่หากเทียบกับระบอบเผด็จการ ระบอบประชาธิปไตยย่อมถือว่ามีการปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และทรัพย์สินมากกว่า

อีกทั้งการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ผ่านการหล่อหลอมเชิงอุดมการณ์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นการกระทำผ่านอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยแต่เพียงอย่างเดียว ในทางตรงกันข้าม อุดมการณ์ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างเผด็จการคอมมิวนิสต์ เผด็จการฟาสซิสต์ และเผด็จการทหาร-ราชาชาตินิยม ก็เป็นอุดมการณ์ที่ไปกันได้ดีกับการรักษาและขยายประโยชน์ของนายทุน บรรษัทข้ามชาติ และระบบทุนนิยม

Q: ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุนจริงหรือไม่?

A: ทุนนิยมมีอิทธิพลต่อสังคมต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน สามารถกล่าวได้ว่าเราอยู่ในสังคมทุนนิยม อย่างไรก็ดี ทุนนิยมมิได้เกิดขึ้นเพียงในยุคปัจจุบัน หากแต่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนยุคปฏิบัติอุตสาหกรรม ซึ่งในยุคนั้นหลายประเทศปกครองในระบอบเผด็จการหรือในชื่ออื่น ๆ ของระบอบอำนาจนิยม นั่นคือ ระบบทุนนิยมดำรงอยู่ในทุกระบอบการปกครอง และหากกล่าวถึงระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมนิยม สังคมทุนนิยมไม่ใช่สังคมที่เท่าเทียม คนรวยได้เปรียบคนจนในทุกเรื่อง ช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ของนายทุนคือการเข้ารับสัมปทานโครงการต่าง ๆ จากรัฐทั้งรัฐที่เป็นเผด็จการและรัฐที่เป็นประชาธิปไตย นั่นคือไม่ว่าในระบอบการเมืองแบบใดนายทุนแสวงหาผลประโยชน์จากรัฐทั้งสิ้น

กล่าวเฉพาะนายทุนในระบอบประชาธิปไตย พวกเขาให้การสนับสนุนพรรคการเมือง รวมถึงการตั้งพรรคการเมืองเอง เพื่อเข้าไปมีอำนาจในการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณและเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตนผ่านการสัมปทานและอื่นๆ อย่างไรก็ดี ระบอบประชาธิปไตยให้ความเสมอภาคทางการเมืองแก่ทุกคน ทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะทำสิ่งที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของนายทุนได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นกฎหมายที่ควบคุมนายทุน เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม และกฎหมายการควบคุมอุตสาหกรรม เป็นต้น แม้กระทั่งเกิดพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายหรือรัฐบาลฝ่ายซ้าย ที่ดำเนินนโยบายขัดขวางการเอาเปรียบของทุนนิยม รวมถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆภายใต้วิถีทางของประชาธิปไตยของประชาชนในวงกว้าง และหากเราเปรียบเทียบกับการปกครองระบอบเผด็จการ เราจะเห็นความเลวร้ายของการกอบโกยผลประโยชน์ของนายทุนมากขึ้น เพราะไม่มีกลไกการปกป้องสิทธิของประชาชนและผลประโยชน์ของส่วนรวมใด ๆ เลย

Q:ประชาธิปไตยไม่สนใจคนดีจริงหรือไม่?

A:ประชาธิปไตยชิงชังการกดขี่ข่มเหง การเอาเปรียบผู้อื่น การคดโกง และการเลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันประชาธิปไตยเสนอตัวว่าเป็นระบอบการปกครองที่มีกลไกและกระบวนการในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่ปฏิบัติได้ในการทำให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรม เพราะเชื่อในเรื่องความเสมอภาคของประชาชน ไม่มีใครได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงไม่มีข้ออ้างใด ๆ ในการกล่าวอ้างความมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ระดับการศึกษาที่ดีกว่า รวมถึงเรื่องความเป็นคนดีมากกว่าคนอื่น
ความเป็นคนดีนอกจากจะถูกใช้เพื่อนำมากล่าวอ้างในการเข้าถึงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังรวมถึงการใช้กล่าวอ้างเพื่อการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางการเมืองอีกด้วย กล่าวคือ ในด้านการเข้าถึงตำแหน่งทางการเมือง มีการใช้สถานะนี้เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆทางการเมืองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ไม่ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เช่น ผ่านการทำรัฐประหาร ส่วนในเรื่องการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางการเมืองนั้น ความเป็นคนดีถูกนิยามว่าเป็นคนสุจริต ไม่คดโกง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ อีกทั้งปฏิเสธองค์กรและกลไกการตรวจสอบทางการเมืองต่าง ๆ ในระบอบประชาธิปไตยในการทำหน้าที่ดังกล่าว

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยมิได้ปฏิเสธคนดี ในทางกลับกลับประชาธิปไตยต้อนรับทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน หากคนดีต้องการมีตำแหน่งทางการเมืองก็สามารถลงแข่งขันรับเลือกตั้งในกระบวนการเลือกตั้ง และอยู่ภายใต้มาตรฐานการตรวจสอบทางการเมืองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

Q: ประชาธิปไตยไม่สนใจคนดีจริงหรือไม่?

A: ประชาธิปไตยชิงชังการกดขี่ข่มเหง การเอาเปรียบผู้อื่น การคดโกง และการเลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันประชาธิปไตยเสนอตัวว่าเป็นระบอบการปกครองที่มีกลไกและกระบวนการในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่ปฏิบัติได้ในการทำให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรม เพราะเชื่อในเรื่องความเสมอภาคของประชาชน ไม่มีใครได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงไม่มีข้ออ้างใด ๆ ในการกล่าวอ้างความมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ระดับการศึกษาที่ดีกว่า รวมถึงเรื่องความเป็นคนดีมากกว่าคนอื่น

ความเป็นคนดีนอกจากจะถูกใช้เพื่อนำมากล่าวอ้างในการเข้าถึงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังรวมถึงการใช้กล่าวอ้างเพื่อการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางการเมืองอีกด้วย กล่าวคือ ในด้านการเข้าถึงตำแหน่งทางการเมือง มีการใช้สถานะนี้เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆทางการเมืองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ไม่ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เช่น ผ่านการทำรัฐประหาร ส่วนในเรื่องการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางการเมืองนั้น ความเป็นคนดีถูกนิยามว่าเป็นคนสุจริต ไม่คดโกง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ อีกทั้งปฏิเสธองค์กรและกลไกการตรวจสอบทางการเมืองต่าง ๆ ในระบอบประชาธิปไตยในการทำหน้าที่ดังกล่าว

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยมิได้ปฏิเสธคนดี ในทางกลับกลับประชาธิปไตยต้อนรับทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน หากคนดีต้องการมีตำแหน่งทางการเมืองก็สามารถลงแข่งขันรับเลือกตั้งในกระบวนการเลือกตั้ง และอยู่ภายใต้มาตรฐานการตรวจสอบทางการเมืองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

Was this useful?

Thanks for your feedback

You could also be interested in

Focus

Digital Election Analytic Lab (DEAL) หรือ โครงการติดตามเเละวิเคราะห์กระบวนการเลือกตั้งในโซเชียลมีเดีย เป็นกระบวนการสืบเนื่องที่พัฒนามาจากหลักการและกรอบแนวคิดของจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ ลงนามร่วมกันโดยพรรคการเมืองจำนวน 30 พรรค

Focus

LIVE แถลงการณ์ ความเห็นต่อการเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้า-นอกเขต วันที่ 7 พ.ค. 2566 .โดยเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ปี 2566 . ณ ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ 1 สถาบันไทยคดีศึกษา ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

Interviews

“ผมรู้จักกับกลุ่ม We Watch ก่อนเลือกตั้งปี 2562 สักระยะ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งจากนักศึกษา เพื่อมาสังเกตและจับตาการเลือกตั้ง ทั้งก่อนเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ช่วงนั้นผมเรียนอยู่ ม.เกษตร ทำกิจกรรมนักศึกษาอยู่แล้ว เลยมาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของการเลือกตั้งครั้งนั้น ผมโอนสิทธิจากชุมพรมาเลือกตั้งล่วงหน้าที่กรุงเทพฯ หน่วยนั้นอยู่ใกล้กับราบ 11

Focus

เว็บลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. ล่ม คาดมีประชาชนได้รับผลกระทบนับแสน กกต. สมควรจะขยายระยะเวลาการลงทะเบียนเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหา