Media >

30-คำถาม-คำตอบ ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง(ตอนที่ 3 การรัฐประหารและอำนาจนอกระบบ )
30-คำถาม-คำตอบ ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง(ตอนที่1 การเลือกตั้งและซื้อสิทธิ์ขายเสียง )

Focus

30-คำถาม-คำตอบ ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง(ตอนที่ 3 การรัฐประหารและอำนาจนอกระบบ )

We Watch รวบรวมคำถามจากสังคมต่อระบบการเมือง เลือกตั้ง การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคำถาม ข้อสงสัยต่อระบอบประชาธิปไตย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 โดยมีทั้งหมด 30 คำถาม เช่น การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ ความหมายและการเลือกตั้งในสังคมไทยคืออะไร ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุนจริงหรือไม่ ? และคำถามอีกมากมายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเราได้รวบรวมคำตอบจากนักวิชาการและที่ปรึกษาของ We Watch เพื่อทำความเข้าใจการเมือง ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง

โดยแบ่งเป็น 3 หมวด 1. การเลือกตั้งและซื้อสิทธิ์ขายเสียง 2.ระบอบประชาธิปไตยผู้แทนรัฐสภา 3. การรัฐประหารและอำนาจนอกระบบ

หมวดที่ 3 การรัฐประหารและอำนาจนอกระบบ

Q: การบังคับใช้มาตรา 44 ทำลายประชาธิปไตยจริงหรือไม่อย่างไร?

A: มาตรา 44 เป็นกฎหมายในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร และยังคงมีผลบังคับใช้ภายใต้การรับรองความชอบธรรมจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับปี 2560 มาตรานี้ให้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หัวหน้า คสช.) สามารถออกคำสั่งเพื่อให้มีผลทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ และให้การปฏิบัติตามคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ มาตรานี้ทำลายประชาธิปไตยอย่างน้อย 4 ประการ คือมาตรานี้รวมอำนาจทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการไว้ที่คนเพียงคนเดียว การมีและบังคับใช้มาตรานี้ขัดขวางหลักการการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจของระบอบประชาธิปไตย

มาตรานี้เป็นการให้อำนาจแก่บุคคลและคณะบุคคลที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาใช้อำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร ขัดกับระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดให้อำนาจทั้งสองถูกใช้โดยผู้แทนของประชาชนเท่านั้น

มาตรานี้ทำลายหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการให้อำนาจแก่บุคคลเพียงคนเดียวในการออกคำสั่งทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการเพื่อให้มีการปฏิบัติการตามคำสั่งได้ คำสั่งดังกล่าวอาจละเมิดและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดกับระบอบประชาธิปไตยที่มุ่งให้หลักประกันและขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน

มาตรานี้ทำลายความหลากหลายทางการเมือง การรวมอำนาจไว้ที่คนเพียงคนเดียวอาจนำไปสู่การใช้อำนาจเพื่อขจัดผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองกับผู้ใช้อำนาจดังกล่าว ซึ่งตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนและกลุ่มการเมืองต่างๆมีการแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรี

มาตรานี้รวมอำนาจทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการไว้ที่คนเพียงคนเดียว การมีและบังคับใช้มาตรานี้ขัดขวางหลักการการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจของระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งทำลายหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการให้อำนาจแก่บุคคลเพียงคนเดียวในการออกคำสั่งทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการเพื่อให้มีการปฏิบัติการตามคำสั่งได้ คำสั่งดังกล่าวอาจละเมิดและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

Q: ทำไมมาตรา 44 ถึงได้รับการยอมรับในสังคมไทย?

A: มาตรา 44 เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากเหตุผลทางการเมือง ดังนั้นการพิจารณาถึงการยอมรับมันควรวิเคราะห์ร่วมกับสถานการณ์ทางการเมืองด้วย กล่าวคือ 1) มาตรา 44 เป็นกฎหมายในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรานี้ถูกยอมรับโดยฝ่ายที่สนับสนุนการรัฐประหาร เนื่องจากต้องการให้คณะรัฐประหารมีอำนาจเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง 2) ต่อมามีการร่างและลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ฝ่ายที่สนับสนุนคณะรัฐประหารลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะต้องการให้ คสช. มีอำนาจในทางการเมืองเพื่อดำเนินการให้เกิดการวางยุทธศาสตร์ 20 ปี อย่างราบรื่น หลักประกันในการให้อำนาจ คสช. อยู่ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีผลให้มาตรา 44 มีผลบังคับใช้ต่อไป 3) เมื่อรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับ ทำให้ คสช. มีอำนาจชอบธรรมในการใช้อำนาจ ซึ่งประชาชนจำเป็นต้องยอมรับ

ควรกล่าวด้วยว่า มีฝ่ายที่ไม่ยอมรับมาตรา 44 ในทั้งสามช่วงเหตุการณ์ข้างต้นเช่นกัน การไม่ยอมรับดังกล่าวแสดงออกผ่านการต่อต้านการออกคำสั่งที่มีผลต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการไม่ยอมรับดังกล่าวจะมีมากขึ้นหากมีการใช้มาตรานี้ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนบ่อยครั้งและส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

Q:ประชาธิปไตย กฎหมาย และการเลือกตั้ง คือ อำนาจ และผลประโยชน์จริงหรือไม่?

A: เพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของประชาธิปไตย กฎหมาย และการเลือกตั้งกับอำนาจและผลประโยชน์ เราควรทำความเข้าใจร่วมกับการเมือง การเมืองคือ การจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ของคนในสังคมด้วยวิธีการต่าง ๆ และผลที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครอง หากเป็นการเมืองของระบอบการปกครองแบบเผด็จการ กาจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่เพียงชนชั้นนำที่เป็นผู้ปกครอง ไม่มีการเปิดให้มีการต่อรองโดยกลุ่มการเมืองกลุ่มอื่นหรือประชาชนทั่วไป แต่หากเป็นการเมืองของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อำนาจและผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนจะถูกให้ความสำคัญมากที่สุด เปิดโอกาสให้ประชาชนและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและของสังคม

กฎหมายและการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ของทั้งการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ ความแตกต่างของการใช้เครื่องมือทั้งสองของทั้งสองระบอบคือ ในระบอบเผด็จการ กฎหมายถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิของประชาชน เป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนเรียกร้องอำนาจและผลประโยชน์ ส่วนการเลือกตั้ง ระบอบเผด็จการเปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีคู่แข่งทางการเมือง การเลือกตั้งดังกล่าวถูกใช้เพื่ออ้างความชอบธรรมในการเป็นผู้มีอำนาจปกครองจากการสนับสนุนของประชาชน ต่างจากในระบอบประชาธิปไตยที่กฎหมายถูกใช้เพื่อรับรองและขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง ประชาชนสามารถแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรีเพื่อรักษาและเรียกร้องผลประโยชน์ของตนเองและสังคม โดยมีกฎหมายที่ให้สิทธิเสรีภาพเป็นตัวรับประกันในการแสดงออกดังกล่าว ขณะที่การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องผลประโยชน์ของประชาชนและการได้มาซึ่งผู้ปกครอง กล่าวคือ ในกระบวนการเลือกตั้งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเสนอข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองจะนำเสนอนโยบายที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง ขณะที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองจะต้องแข่งขันกันนำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชาชนและเป็นนโยบายที่ประชาชนต้องการ

โดยสรุป อำนาจและผลประโยชน์เป็นแรงจูงใจและผลหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ หรือของผู้ปกครอง โดยมีเครื่องมือทางการเมืองคือกฎหมายและการเลือกตั้ง ทั้งนี้อำนาจและผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนหรือคนส่วนใหญ่หรืออยู่เพียงคนเพียงกลุ่มเดียวขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการ

Q: เมื่อประชาชนเดือนร้อน เราควรหันไปพึ่งมาตรา 44 หรือไม่อย่างไร ?

A: มาตรา 44 เป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจบุคคลเพียงคนเดียวคือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หัวหน้า คสช.) มีอำนาจในการออกคำสั่งทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ และให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปกติที่มีหลายขั้นตอน ดังนั้นเมื่อมีการบังคับใช้ต่อเรื่องหนึ่ง ๆ จึงมีความรวดเร็วในการปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ประชาชนไม่ควรให้การยอมรับหรือหันไปพึ่งมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ด้วยเหตุผลดังนี้

มาตรานี้มักมีในยุคที่เป็นเผด็จการ ไม่ปรากฏในยุคที่เป็นประชาธิปไตย การมีมาตรานี้อยู่แสดงว่าเรากำลังอยู่ในยุคเผด็จการ อีกทั้งการให้การยอมรับมันอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างว่าประชาชนให้การยอมรับเพื่อการอยู่ต่อในอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ ภายใต้ระบอบเผด็จการการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาสังคมต่าง ๆ ทำได้อย่างจำกัด

มาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ขัดขวางหลักการประชาธิปไตย เช่น การแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ สิทธิเสรีภาพ และหลักความเสมอภาพทางการเมือง แม้ว่ามาตรา 44 จะสามารถนำมาแก้ไขปัญหาในสังคมได้ แต่มิได้หมายความว่าจะใช้การได้ดีและทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันและอาจทำลายภาพลักษณ์และผลประโยชน์ของฝ่ายที่ครอบครองการใช้มาตรา 44 กรณีเช่นนี้เพียงแค่การเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาก็ถูกจับกุมแล้ว คงมิต้องคาดหวังถึงความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ต่างจากในระบอบประชาธิปไตยที่การเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ สามารถทำได้เพราะมีหลักการข้างต้นให้การรับรองโดยไม่เลือกปฏิบัติ

แม้การเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านต่างๆ ตามกระบวนการปกติในระบอบประชาธิปไตยจะมีความยุ่งยาก ใช้เวลานาน และอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้เรียกร้อง แต่ระบอบประชาธิปไตยมีหลากหลายช่องทางในการใช้เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหา ผู้เดือดร้อนและคนในสังคมควรใช้ช่องทางหลากหลายช่องทางเพื่อสร้างพลังและแรงกดดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา บางช่องทางอาจมีปัญหาทั้งในแง่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบหรือตัวระบบ เราก็สามารถใช้ช่องทางอื่น รวมถึงหาทางแก้ไขปรับปรุงช่องทางนั้นให้ดีขึ้นได้ นั่นคือ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยช่องทางหรือกลไกในการแก้ไขปัญหาในสังคมอาจยังขาดประสิทธิภาพ แต่มันได้เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป การหันไปพึ่งมาตรา 44 จึงเป็นการขัดขวางการพัฒนาช่องทางและกลไกดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Q: ทำไมภาคประชาสังคม และ NGOs บางส่วนถึงสนับสนุนเผด็จการทหาร?

A: ในความเป็นจริงภาคประชาสังคมและ NGOs ในประเทศต่างๆทั่วโลกมี 2 แบบ คือ 1) ภาคประชาสังคมและ NGOs ที่มีแนวคิดและบทบาทในการส่งเสริมประชาธิปไตย และ 2) ภาคประชาสังคมและ NGOs ที่มีแนวคิดและบทบาทขัดขวางประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเภทอาจมีแนวคิดและบทบาทที่เปลี่ยนแปลงได้ ภาคประชาสังคมและ NGOs ที่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยอาจมีบทบาทขัดขวางประชาธิปไตย หรือประเภทที่เคยขัดขวางประชาธิปไตยอาจมีบทบาทส่งเสริมประชาธิปไตยก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรคาดหวังว่าภาคประชาสังคมและ NGOs จะปกป้องประชาธิปไตยเสมอไป

อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ของระยะเวลา เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นอาจนำมาสู่ทั้ง 1) มีการต่อต้านทันที 2) สักพักจึงเกิดการต่อต้าน และ 3) มีการต่อต้านบ้างแต่รัฐบาลยังอยู่ได้นาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในแต่ละช่วง เมื่อรัฐประหารแล้วบ้านเมืองสงบภาคประชาสังคมและ NGOs และสังคมทั่วไปอาจยอมรับได้ในระยะหนึ่ง วิกฤตทางการเมืองที่ยาวนาน หาทางออกไม่ได้ เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ภาคประชาสังคมและ NGOs ยอมรับการรัฐประหาร กรณีการรัฐประหาร ปี 2557 ของไทย คณะรัฐประหารได้อาศัยความชอบธรรมจากวิกฤตที่ถูกสร้างมากว่า 10 ปี ยึดอำนาจรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ภาคประชาสังคมและ NGOs รวมถึงสังคมทั่วไปคิดว่าเป็นเผด็จการก็ได้ขอเพียงบ้านเมืองสงบ ขอเพียงทำให้ระงับความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในทางตรงกันข้ามหากรัฐบาลของคณะรัฐประหารปกครองประเทศแล้วไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและกลับทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก ผู้คนยากจนใช้จ่ายไม่คล่องมือ อาจนำมาสู่การต่อต้านในภายหลังได้ ซึ่งการต่อต้านอาจทำให้เกิดการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลของคณะรัฐประหารถึงขั้นทำให้ออกจากอำนาจได้ หรืออาจเป็นเพียงการเคลื่อนไหวที่อาจทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเพียงเล็กน้อยยังไม่สามารถทำให้รัฐบาลของจากอำนาจได้ก็เป็นได้

ดังนั้น การต่อต้านหรือสนับสนุนการรัฐประหารโดยภาคประชาสังคมและ NGOs จึงขึ้นอยู่กับแนวทางและเป้าหมายของภาคประชาสังคมและ NGOs นั้น ๆ รวมถึงเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในช่วงเวลานั้น ๆด้วย อีกทั้งผลของการต่อต้านอาจมีมากน้อยแตกต่างกัน

Q :ทางออกของการยุติการรัฐประหารคืออะไร?

A: ทางออกสำหรับการยุติการรัฐประหาร พื้นฐานสำคัญที่สุดคือความเข้มแข็งของประชาชน ความเข้มแข็งดังกล่าว ประกอบด้วย ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง มีการจัดตั้งเครือข่ายอย่างกว้างขวาง และมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ 1) ด้านการตื่นตัวทางการเมืองประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตยและความเลวร้ายของเผด็จการที่จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา และตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการปกป้องประชาธิปไตยและขจัดอุปสรรคของประชาธิปไตย 2) ด้านการจัดตั้งเครือข่ายของประชาชน เป็นการจัดตั้งเครือข่ายประชาธิปไตย มีการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และมีการจัดการศึกษาเพื่อให้ความรู้ด้านแนวคิดและวิธีการทำงานเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ข้อมูลหนึ่งที่เครือข่ายควรนำมาเรียนรู้ร่วมกันคือ ข้อมูลเกี่ยวกับฐานสนับสนุนของประชาธิปไตย และข้อมูลเกี่ยวกับฐานสนับสนุนของเผด็จการซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รู้ว่าใครเป็นใครในสังคม ควรมีบทบาทท่าทีอย่างไรต่อคนหรือองค์กรหรือสถาบันเหล่านั้น รวมถึงข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และ 3) ด้านการมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร

การทำให้สิ่งต่าง ๆ ข้างต้นเป็นภารกิจหนักที่ต้องอาศัยความทุ่มเทและเวลา ในการเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อประชาชนมีความเข้มแข็ง และมีสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจทางการเมือง เช่น การเสนอ แก้ไข และยกเลิกกฎหมายเพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การผลักดันเรื่องการปฏิรูปกองทัพ และการเลือกตั้ง ประชาชนก็จะออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองในแต่ละเรื่องเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมถึงหากมีรัฐประหารเกิดขึ้นประชาชนก็ควรออกมาร่วมกันคัดค้านเช่นกัน

Q: การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในโลกออนไลน์ควรเป็นอย่างไร?

A: การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยบนโลกออนไลน์มีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวร่วมกันในที่สาธารณะ ทั้งการชุมนุม การรณรงค์ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่สมาชิกและแนวร่วมของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวทั้งสองแบบสามารถอธิบายได้ผ่านกรณีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอันโด่งดัง คือ กรณีอาหรับสปริง และกรณี Umbrella Movement ที่ฮ่องกง ทั้งสองกรณีเป็นที่รับรู้ของทั่วโลกว่าการสื่อสารออนไลน์มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวหรือเป็นหัวใจหลักของการเคลื่อนไหว คือเป็นขบวนการฯที่มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน นัดหมายกัน และรวบรวมคนที่ใช้ระบบออนไลน์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีสองสิ่งที่ควรพิจารณา คือ 1) ด้านการรวบรวมคน ในขบวนการฯ มีการประสานงานไปยังกลุ่มต่างๆที่มีการทำงานร่วมกันมาก่อน รวมถึงมีการตั้งกลุ่มใหม่ขึ้น มีการหาสมาชิกเข้ากลุ่ม และมีการจัดการศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด และทำกิจกรรมร่วมกัน มิใช่ว่าพวกเขาทั้งหมดต่างคนต่างมา และ 2) ด้านการสร้างพลังและอำนาจการต่อรอง มีการถกเถียงกันในสังคมว่าการประท้วงใช้โซเชียลออนไลน์ก็เพียงพอแล้วจริงหรือไม่ หากพิจารณาถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของการเคลื่อนไหวทั้งสองเหตุการณ์ข้างต้นจะพบว่ามีการเคลื่อนไหวชุมนุม มีการประท้วงบนท้องถนนโดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากทั้งมาจากเครือข่ายที่มีการติดต่อกันผ่านโซเชียลออนไลน์และคนที่เห็นการปฏิบัติการจริงในที่สาธารณะดังกล่าว ทำให้ประเด็นที่ขบวนการฯนำเสนอถูกพูดถึงในสังคม และทำให้รัฐให้ความสนใจ ลำพังการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้ การใช้ออนไลน์โซเชียลมีเดียในการให้ข้อมูล และข่าวสารแก่สมาชิกและสังคมยังมีมุมที่ควรมองลึกลงไปอีก คือ 1) การทำงานที่ต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และสื่อการกันตั้งแต่ก่อนมีการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องไปถึงช่วงหลังการชุมนุม 2) ข้อมูลข่าวสารน่าเชื่อถือ ไม่ใช่ว่าจะโพสต์อะไรก็ได้ การจะทำให้คนเชื่อได้จะต้องมีข้อมูล มีประเด็น ต้องมีคนทำหน้าที่วิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) หาประเด็นที่คนในสังคมสนใจ พวกเขาใช้ประเด็นส่วนใหญ่มาจากสื่อกระแสหลัก เนื่องจากสื่อกระแสหลักเสนอข่าวทำให้คนสนใจประเด็นทางสังคมนั้น ๆ อยู่แล้ว แต่พวกเขานำมาแจงเป็นประเด็น พวกเขารู้ว่าจะได้รับความสนใจควรจะนำเสนอตัวเองอย่างไร 3) การวิเคราะห์คนในสังคมว่ามีกี่กลุ่ม กี่แบบ และหาวิธีวางตัวเองให้เหมาะสมกับคนเหล่านั้น 4) การประเมินหรือสังเกตอารมณ์ของคนในขบวนและในสังคม เช่น ในระหว่างการชุมนุมถูกปราบปราม มีข่าวลือว่าจะมีการหยุดการชุมนุม แต่ผู้ปฏิบัติงานของขบวนการฯกลบข่าวนี้ด้วยการโพสต์เป็นข้อความสั้นๆว่า “การประท้วงดำเนินต่อไป” ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมยังคงชุมนุมต่อซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ร่วมชุมนุมต้องการเช่นกัน 5) การนำเสนอผ่านรูปแบบต่าง เช่น การ์ตูน ภาพเคลื่อนไหว พวกเขามีผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้และทุ่มเทเกี่ยวกับเรื่องนี้

ดังนั้น หากนักกิจกรรมทางสังคมต้องการใช้การเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ควรศึกษาองค์ประกอบของการทำงานจากตัวอย่างองค์ประกอบของการเคลื่อนไหวข้างต้น และใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหนุนการเคลื่อนไหวในที่สาธารณะให้มีพลังและอำนาจต่อรองมากที่สุด มิใช่การหยิบใช้มันในฐานะเครื่องมือสื่อสารที่รวดเร็วและประหยัดเท่านั้น

Was this useful?

Thanks for your feedback

You could also be interested in

Focus

Digital Election Analytic Lab (DEAL) หรือ โครงการติดตามเเละวิเคราะห์กระบวนการเลือกตั้งในโซเชียลมีเดีย เป็นกระบวนการสืบเนื่องที่พัฒนามาจากหลักการและกรอบแนวคิดของจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ ลงนามร่วมกันโดยพรรคการเมืองจำนวน 30 พรรค

Focus

LIVE แถลงการณ์ ความเห็นต่อการเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้า-นอกเขต วันที่ 7 พ.ค. 2566 .โดยเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ปี 2566 . ณ ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ 1 สถาบันไทยคดีศึกษา ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

Interviews

“ผมรู้จักกับกลุ่ม We Watch ก่อนเลือกตั้งปี 2562 สักระยะ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งจากนักศึกษา เพื่อมาสังเกตและจับตาการเลือกตั้ง ทั้งก่อนเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ช่วงนั้นผมเรียนอยู่ ม.เกษตร ทำกิจกรรมนักศึกษาอยู่แล้ว เลยมาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของการเลือกตั้งครั้งนั้น ผมโอนสิทธิจากชุมพรมาเลือกตั้งล่วงหน้าที่กรุงเทพฯ หน่วยนั้นอยู่ใกล้กับราบ 11

Focus

เว็บลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. ล่ม คาดมีประชาชนได้รับผลกระทบนับแสน กกต. สมควรจะขยายระยะเวลาการลงทะเบียนเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหา