
We Watch รวบรวมคำถามจากสังคมต่อระบบการเมือง เลือกตั้ง การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคำถาม ข้อสงสัยต่อระบอบประชาธิปไตย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 โดยมีทั้งหมด 30 คำถาม เช่น การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ ความหมายและการเลือกตั้งในสังคมไทยคืออะไร ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุนจริงหรือไม่ ? และคำถามอีกมากมายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเราได้รวบรวมคำตอบจากนักวิชาการและที่ปรึกษาของ We Watch เพื่อทำความเข้าใจการเมือง ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง
โดยแบ่งเป็น 3 หมวด 1. การเลือกตั้งและซื้อสิทธิ์ขายเสียง 2.ระบบประชาธิปไตยผู้แทนรัฐสภา 3. การรัฐประหารและอำนาจนอกระบบ
หมวดที่ 1 การเลือกตั้งและการซื้อสิทธิ์ขายเสียง

Q: การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ อย่างไร?
A: เครื่องมือทางการเมือง คือวิถีทางในการได้มาซึ่งอำนาจ ความมั่งคั่ง ผลประโยชน์ ตำแหน่งการเมือง เกียรติยศและชื่อเสียง หากมองในแง่นี้ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผ่านมา เครื่องมือทางการเมืองมักจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรง การกดขี่ และการบังคับ อยู่เสมอ กล่าวคือ สงคราม การจับเชลยมาเป็นทาส การล่าอาณานิคม การปล้นสะดม การบังคับให้ชาวนาอยู่ติดที่ดินและมอบผลผลิตให้กับขุนนาง และการใช้อาณาสิทธิของราชาเหนือไพร่ฟ้าโดยอ้างความเชื่อทางศาสนา ล้วนเป็นวิถีทางหรือเครื่องมือในทางการเมืองทั้งสิ้น นอกจากนั้น ในยุคสมัยใหม่ เครื่องมือทางการเมือง นั้นมีอยู่หลายรูปแบบ นอกจากการเลือกตั้งแล้ว ยังรวมไปถึง การโฆษณาชวนเชื่อ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ระบบอุปถัมภ์ การรัฐประหาร และการแต่งตั้ง จะเห็นได้ว่าและการเลือกตั้งเป็นแค่หนึ่งในหลาย ๆ รูปแบบที่ว่านั้น ความโดดเด่นของการเลือกตั้งก็คือ แม้มันจะไม่ใช่วิถีทางในการได้มาซึ่งอำนาจที่ปราศจากความรุนแรง การกดขี่ และการบังคับ แต่ถือเป็นวิถีทางที่มีความรุนแรงน้อยที่สุด กดขี่น้อยที่สุด และบังคับน้อยที่สุดและในขณะเดียวกันก็ยังให้การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และทรัพย์สินของพลเมืองมากกว่าทางเลือกอื่น กล่าวคือ ในการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง อาจมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การลอบสังหารผู้สมัครและหัวคะแนน หรืออาจมีการกดขี่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พรรคที่ลงเลือกตั้งเป็นชนชั้นนำ เจ้าสัวมหาเศรษฐี และอดีตนายทหาร และ อาจมีการบังคับเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การที่มีพรรคให้เลือกเพียงไม่กี่พรรค และไม่มีพรรคที่มาจากประชาชนคนชั้นล่างอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ว่านี้ ดูจะเป็นปัญหาที่เล็กน้อยกว่ามาก หากเทียบกับการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองผ่านวิถีทางอื่นๆ เช่น การทำสงคราม การทำรัฐประหาร หรือการล่าอาณานิคม ซึ่งไม่เพียงแต่มีระดับความรุนแรง การกดขี่ และการบังคับ ที่รุนแรงและชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่า หากแต่มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และทรัพย์สินของพลเมือง ในระดับที่มากกว่าอีกด้วย
ดังนั้นโดยสรุป แม้การเลือกตั้งจะไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองในอุดมคติที่มาพร้อมกับสันติภาพ ศีลธรรมอันดีงาม และเสรีภาพอันสัมบูรณ์ กระนั้น หากเทียบกับทางเลือกอื่นๆ การเลือกตั้งถือว่าดีกว่าอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับเครื่องมือทางการเมืองในการช่วงชิงอำนาจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำสงคราม การทำรัฐประหาร หรือการล่าอาณานิคมนั้น มีระดับความรุนแรง การกดขี่ และการบังคับ ที่รุนแรงและชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่า รวมทั้งการเลือกตั้งยังมีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และทรัพย์สินของพลเมือง ในระดับที่มากกว่าการเลือกตั้งอีกด้วย

Q: หากการเลือกตั้งนำไปสู่การได้ผู้นำ/ ตัวแทนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจะทำอย่างไร?
A: มีอยู่สองแนวทางใหญ่ๆ หนึ่ง คือ ทางออกนอกเหนือไปจากวิถีทางประชาธิปไตย และสอง คือ ทางออกภายใต้วิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งหากวัดดูข้อดีและข้อเสียแล้ว ทางออกที่สองคือแนวทางที่ควรจะนำไปประยุกต์ใช้ในปัจจุบันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนจะไม่เลือกกลับมาในครั้งต่อไป การถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ รวมทั้งในระยะยาว ยังเป็นการสร้างค่านิยมในทางการเมืองว่า การถอดถอนผู้นำทางการเมืองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ควรใช้ “ทางลัด” หากแต่ควรใช้ความอดทน ใช้การระดมพลังสังคมเพื่อกดดันรัฐบาล และใช้การสร้างจิตสำนึกทางการเมืองผ่านการใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับผู้นำทางการเมืองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

Q: เราสามารถยอมให้มีตัวแทนในชุมชนที่ผู้คนยอมรับโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งได้หรือไม่?
A: ผู้ทำงานด้านประชาธิปไตยอาจได้ยินคำถามนี้จากคนที่สงสัยเคลือบแคลงต่อการเลือกตั้ง สืบเนื่องมาจากการใช้วาทกรรมว่า การเลือกตั้งนั้นอาจสร้างความแตกแยก วุ่นวาย ดังนั้น คนดีที่สังคมหรือชุมชนยอมรับจึงเพียงพอแล้วที่จะเข้ามาดำเนินงานในฐานะผู้นำหรือตัวแทนของประชาชน แต่ทั้งนี้ เราจำเป็นจะต้องยืนยันในหลักการรูปธรรมที่จะทำให้สาธารณะได้เห็นร่วมกันถึงเจตจำนงของประชาชนในการยอมรับผู้แทนของชุมชนผ่านกระบวนการเลือกตั้งเพียงเท่านั้น อันที่จริงแล้วคำถามนี้มีข้อน่าพิจารณาระหว่างคำว่า คนที่ผู้คนยอมรับ กับ การเลือกตั้ง เนื่องจากในสังคมไทยได้เคยมีการกล่าวอ้างการให้อำนาจ “คนที่ผู้คนยอมรับ” ในการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงระบบการเลือกตั้ง ทั้งโดยอ้างการเลือกตั้งสร้างความขัดแย้ง แตกแยกระหว่างคนในชุมชน หรือทั้งเพื่อเป็นช่องทางลัดเพื่อมิให้เสียงที่สนับสนุนกลุ่มคนอื่น ๆ ได้มีพื้นที่ในการเลือกผู้แทนของตน โดยคุณลักษณะของ “คนที่ผู้คนยอมรับ” ที่ถูกนำมาใช้มักถูกอธิบายว่าเป็นคนดี มีความรู้ และเป็นผู้เสียสละ
อย่างไรก็ดี คำว่า “คนที่ผู้คนยอมรับ” ควรต้องถูกตั้งคำถามถึงจำนวนคนที่ให้การยอมรับผ่านกระบวนการที่สามารถพิสูจน์ได้และยุติธรรม ซึ่งการเลือกตั้งคือวิธีการหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและถูกใช้เป็นมาตรฐานสากล จำนวนคนที่ออกมาใช้สิทธิผ่านการเลือกตั้งจะแสดงถึงการยอมรับร่วมกันในการอนุญาตให้ผู้สมัครที่ได้รับการเลือกตั้งใช้อำนาจทางการเมืองแทนตน จึงมิได้หมายความว่าคนดี มีความรู้ และผู้เสียสละที่ถูกยอมรับในสังคมจะได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนทางการเมืองของประชาชนเสมอไป เนื่องจากเหตุผลในการตัดสินใจของประชาชนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลเพื่อให้ได้ข้อพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรม การเลือกตั้งจึงถูกนำมาใช้เนื่องจากสามารถแสดงผลเป็นตัวเลขหรือจำนวนได้ว่าใครคือคนที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ ในกระบวนการเลือกตั้ง คนที่อ้างว่าเป็น “คนที่ผู้คนยอมรับ” หรือ คนดี คนมีความรู้ และคนเสียสละ ก็จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อแข่งขันกับผู้สมัครอื่น ๆ อย่างเท่าเทียม และไม่มีข้อยกเว้น ถึงแม้ว่าจะมีผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้งจากประชาชนก็ยังต้องถูกจัดขึ้นเช่นเดิม เพราะจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดว่ามีประชาชนกี่คนมอบคะแนนหรือให้การยอมรับให้ผู้สมัครคนเดียวคนนี้เป็นตัวแทนทางการเมืองของพวกเขา และจะต้องได้รับเสียงคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 จากคะแนนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จึงจะถือว่าผู้สมัครคนนั้นได้รับการยอมรับประชาชน
การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการชี้วัดถึงเจตจำนงของประชาชนว่าใครคือคนที่ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้แทนทางการเมืองของประชาชน ทุกคนที่ต้องการเป็นผู้แทนทางการเมืองของประชาชนต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นตัวบอกจำนวนการยอมรับจากประชาชน

Q: มีทางเลือกอื่นในการเลือกตัวแทนในชุมชนที่ผู้คนยอมรับโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งได้หรือไม่ อย่างไร?
A: เมื่อพิจารณาถึงการหาช่องทางอื่นมาแทนที่การเลือกตั้ง คือ การสรรหาคนดีมาบริหารประเทศ ความคิดนี้มาจากวัฒนธรรมที่ไม่เท่าเทียมของไทย การมองว่าสังคมมี “อรหันต์” อยู่ สามารถฝากความหวังไว้กับคนแบบนี้ได้ ความคิดนี้ยังคงส่งทอดมาถึงคนรุ่นใหม่ โดยที่ความคิดแบบนี้ละเลยว่าความดี คนดี หรืออรหันต์ก็มีโอกาสเสื่อมเสียด้วยเหมือนกัน ซึ่งปัญหาที่อาจตามมาจากการมองแบบนี้คือ เรามักมองข้ามความผิดพลาดที่เกิดจากการกระทำของคนดี รวมทั้งไม่ตั้งคำถามหรือไม่มีกลไกตรวจสอบ หากจะนำเกณฑ์เรื่องคนดีมาใช้ในการเลือกตัวแทนของชุมชนแทนการเลือกตั้ง มีข้อที่น่าพิจารณาตามมาคือ 1) ใครเป็นคนเลือก ประชาชนในชุมชนทุกคนเป็นคนเลือกหรือไม่ มีกระบวนการเลือกอย่างไร และ 2) จะมีหลักประกันหรือกลไกในการตรวจสอบคนดีดังกล่าวอย่างไร หรือเพียงแค่การใช้ข้ออ้างว่าเป็นคนดีก็เพียงพอ ทั้งสองเรื่องดังกล่าวแสดงถึงว่าผู้แทนดังกล่าวยึดโยงอยู่กับประชาชนอย่างไรทั้งในด้านกระบวนการเลือกและกระบวนการตรวจสอบผู้แทน ในระบบการเลือกตั้งก็มิได้กีดกัน “คนดี” ออกจากระบบ แต่คนดีมีความเสมอภาคทางการเมืองเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ในสังคม ดังนั้นคนดีจึงมีสิทธิในการลงแข่งขันทางการเมืองเพื่อเป็นตัวเลือกของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ภายใต้ระบบการเลือกตั้งนั้น คนดีสามารถนำเสนอตัวเองได้อย่างเต็มที่ในการทำให้ประชาชนเห็นว่าตนมีศักยภาพในการทำงานและจะตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้แทนอย่างไร สุดท้ายผลการเลือกตั้งโดยประชาชนจะเป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้รับเลือกเป็นผู้แทนซึ่งอาจเป็นคนดีหรือผู้สมัครที่เป็นคนทั่วไปก็ได้ และประชาชนจะเป็นผู้ประเมินผลงานเปรียบเทียบกับนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ หากทำได้ไม่ดีหรือมีการทุจริต ประชาชนก็จะวิพากษ์วิจารณ์หรือเรียกร้องเพื่อให้เกิดการดำเนินคดีซึ่งผลอาจมีโทษถึงขั้นให้ออกจากการเป็นผู้แทน อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็เป็นอีกมาตรการในการตรวจสอบการทำงาน หากคนดีที่เคยได้รับเลือกตั้งคนนั้นทำงานได้ดีและยังเป็นที่ต้องการของประชาชน เขาก็อาจจะได้รับเลือกอีกครั้ง
กล่าวโดยสรุป การเป็นผู้แทนของประชาชนต้องวางอยู่บนหลักการของความเสมอภาพทางการเมือง และการยึดโยงอยู่กับประชาชนที่ประชาชนต้องเป็นผู้เลือกและตรวจสอบการทำงานของผู้แทนได้

Q: การซื้อสิทธิขายเสียงมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนหรือไม่ อย่างไร?
A: เราอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งไทยมีการซื้อสิทธิขายเสียงจริงอยู่จริง ซึ่งการซื้อสิทธิขายเสียงปราฏขึ้นตั้งแต่มีการเลือกตั้งในช่วงปลายทศวรรษ 2470 แต่หลายคนอาจเคยได้ยิน “โรคร้อยเอ็ด” ที่เกิดจากการซื้อสิทธิขายเสียงที่จังหวัดร้อยเอ็ดในการเลือกตั้งซ่อมปี 2524 ซึ่งอยู่ในดินแดนอีสาน ภูมิภาคที่ถูกมองว่ายากจนและมีการศึกษาต่ำที่สุด ภาพของผู้ขายเสียงจึงผูกติดอยู่กับอีสาน และยังคงถูกใช้เพื่อขัดขวางสิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิทางการเมืองอื่น ๆ ของพวกเขาด้วย
ในความเป็นจริง ได้มีการศึกษาแล้วว่า การตัดสินใจในการเลือกตั้งของประชาชนในชนบทที่ถูกมองว่ายากจนและไร้การศึกษากลับไม่ได้ขึ้นอยู่กับการซื้อสิทธิขายเสียง แต่การตัดสินใจในการเลือกตั้งนั้นเป็นผลมาจากการเรียนรู้ของประชาชนตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่การเลือกตั้ง ปี 2522 การเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ประชาชนได้เรียนรู้การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งและคะแนนเสียงของพวกเขาต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปหลาย ๆ ครั้ง ชาวบ้านจึงเริ่มเรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วการออกเสียงมีความหมายมากกว่าการเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการซื้อสิทธิขายเสียง เพราะมันโยงไปถึงสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น คือการที่เขาสามารถเรียกร้องผลักดันให้ได้งบประมาณเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านของเขา
นอกจากนี้ ฝ่ายนักการเมืองเองก็มีการปรับตัว เมื่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งพิจารณาที่ผลงานของนักการเมืองผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทำให้นักการเมืองต้องแข่งขันกันมากขึ้น คือสร้างผลงานให้ชาวบ้านยอมรับ ไม่ใช่เพียงการซื้อสิทธิขายเสียง ทำให้เกิดการแข่งขันกันในการสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน
อีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนตัดสินใจจากผลงานของผู้สมัคร คือ พวกเขาไม่ได้ยึดติดอยู่ที่การเลือกผู้สมัครเพียงคนเดียว หากคนที่เคยได้รับเลือกเป็น ส.ส. ไม่มีผลงานหรือไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง ก็อาจไม่ได้รับเลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้าเราดูสถิติการเป็นผู้แทนในอีสาน เราจะเห็นว่ามี ส.ส. สอบตกจำนวนมาก มีบางคนเท่านั้นที่ชนะการเลือกตั้งแทบทุกครั้ง คนประเภทนี้คือคนที่มีผลงาน ไม่ใช่คนที่ซื้อเสียง
แม้การเลือกตั้งไทยจะมีการซื้อสิทธิขายเสียง แต่มีงานศึกษาพบประชาชนในชนบทตัดสินใจในการเลือกตั้งนั้นเป็นผลมาจากการเรียนรู้ของประชาชนตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา พิจารณาที่ผลงานหรือการรักษาสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงของนักการเมือง

Q: การเลือกตั้งสร้างความแตกแยกของชุมชนและทำลายการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันของชุมชนจริงหรือไม่?
A: ปัจจุบันสังคมชนบทเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากเดิมที่ผู้คนยึดติดอยู่กับผู้นำเพียงบางคน และมีความต้องการคล้ายกัน เปลี่ยนมาเป็นผู้คนมีอิสระมากขึ้น มีความต้องการหลากหลาย และมีกลุ่มสังกัดที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มด้านอาชีพ และด้านการเมือง เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงนี้เชื่อมโยงกับการเลือกตั้งและความขัดแย้งในชุมชน กล่าวคือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในชนบทเอง เช่น ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีความขัดแย้งเพราะตอนนั้นผู้คนไม่ได้มีความเป็นอิสระ ชาวบ้านเกรงใจผู้อาวุโสและผู้มีอำนาจในหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ดังกล่าวเปลี่ยนไป คือ คนมีอิสระต่อกันทำให้มีการแข่งขันกัน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น นั่นคือ การเลือกตั้งไม่ได้เป็นตัวสร้างความขัดแย้งในชุมชน หากแต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมในชนบท
ควรกล่าวด้วยว่า ความเอื้อเฟื้อในระบบความสัมพันธ์แบบเดิมของชุมชนที่จริงมันคือ “ระบบอุปถัมภ์” เป็นระบบที่กักขังความเป็นอิสระของคนให้ยึดติดอยู่เพียงกับการช่วยเหลือของผู้นำ นั่นหมายถึงการเกื้อกูล ระบบอุปถัมภ์และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมเป็นสิ่งเดียวกัน หากจะบอกว่าการเลือกตั้งทำลายการเกื้อกูลกัน ก็คงต้องกล่าวด้วยว่าการเลือกตั้งไปบั่นทอนระบบอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในสังคมเช่นกัน
โดยสรุป ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในชุมชนที่ผู้คนมีอิสระต่อกัน และมีความต้องการหลากหลายตามกลุ่มที่ตนสังกัด มิใช่เกิดจากการเลือกตั้ง ในทางตรงกันข้าม การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งที่เชื่อว่าทุกคนมีความเสมอภาพกัน ช่วยในการจัดสรรผลประโยชน์และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของคนในสังคมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในชุมชนที่ผู้คนมีอิสระต่อกัน และมีความต้องการหลากหลายตามกลุ่มที่ตนสังกัด มิใช่เกิดจากการเลือกตั้ง ในทางตรงกันข้าม การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งที่เชื่อว่าทุกคนมีความเสมอภาพกัน ช่วยในการจัดสรรผลประโยชน์และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของคนในสังคม

Q: การซื้อสิทธิ ขายเสียง จะหมดไปจากการเลือกตั้งไทยได้อย่างไร?
A: หนึ่งในสาเหตุพื้นฐานของปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งไทย แต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงคือปัญหาที่ว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไม่ใช่เกมการเมืองรูปแบบที่ทุกคนตกลงว่าจะเล่มร่วมกัน (Democracy is not the only game in town) กล่าวคือ การเมืองไทยยังคงประสบปัญหาเรื้อรังที่ว่า สถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทหาร สถาบันตุลาการ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังไม่ให้การยอมรับว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นวิธีในการได้มาซึ่งรัฐบาลและรัฐสภาที่ดีที่สุด และสถาบันการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหล่านั้นมักจะทำการแทรกแซงทางการเมือง ลดความชอบธรรมการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน
ในบริบทที่รัฐสภาไม่มีความมั่นคงและพร้อมที่จะถูกล้มด้วยอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจึงมีแนวโน้มที่จะมองข้ามผลประโยชน์ระยะยาวของตนและมวลชนที่ให้การสนับสนุน หากแต่รีบเร่งที่จะตักตวงผลประโยชน์ส่วนตนให้ได้มากที่สุดในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเกรงว่า การครองอำนาจของรัฐบาลพลเรือนจะอยู่ได้ไม่นาน เช่นเดียวกัน การที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้มีสิทธิในการไปเลือกตั้งจริง ๆ นานทีปีหนตามที่ผู้นำเผด็จการทหารจะอนุญาต และไม่ใช่เป็นไปตามวาระที่ชัดเจน ก็มีแนวโน้มเช่นกันว่า ประชาชนจะไม่ได้คาดหวังว่าตนเองจะได้มีโอกาสเลือกพรรคที่ออกนโยบายดีและบริหารได้ดีกลับไปดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังไม่คิดว่าการเลือกตั้งถือเป็นสิ่งที่มีค่าในทางการเมือง หากแต่เห็นว่ามีค่าในทางการเงินผ่านการขายเสียงให้กับผู้สมัครที่เข้าไปดำรงตำแหน่งได้ไม่นานก็คงจะถูกล้มจากอำนาจด้วยสถาบันการเมืองที่ไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง นี่คือวัฏจักรปัญหาการเมืองไทยที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงตามไปด้วย ตราบใดที่การเข้ามาแทรกแซงหรือยึดอำนาจของสถาบันการเมืองที่ไม่ได้มากจากการเลือกตั้งยังดำรงอยู่ ก็เป็นการยากที่ประชาชนจะสามารถคาดหวังจากการเลือกตั้ง หรือทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องจริงจัง และสามารถลงหลักปักฐานในการเมืองไทยได้อย่างแท้จริง และคงเป็นการยากที่การซื้อสิทธิขายเสียงจะหายไปจากการเมืองไทย
ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่สำคัญก็คือ การยุติบทบาททางการเมืองของสถาบันที่ไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง และปล่อยให้กิจการพลเรือนทั้งหมดเป็นของตัวแทนพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อการเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องปกติ คาดเดาได้ จัดให้มีตามวาระชัดเจนที่รัฐธรรมนูญกำหนด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัคร ก็จะหันมาสนใจในผลประโยชน์ระยะยาวของตน โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มากกว่าแค่ผลประโยชน์เป็นตัวเงินในระยะสั้น แน่นอนว่า การซื้อสิทธิและขายเสียงจะดำรงอยู่ในบางพื้นที่ กับผู้สมัครบางคน และผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งบางคน แต่ในภาพรวมและในระยะยาวแม้จะไม่สามารถขจัดไปให้หมดสิ้นไปจากการเมืองไทย แต่การซื้อสิทธิและขายเสียงจะกลายเป็นวิถีในการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ที่ไม่ได้รับความนิยม ไม่แน่นอน และไร้พลังทางการเมืองมากที่สุด เมื่อเทียบกับ การระดมทุนสนับสนุนพรรค การหาเสียงด้วยนโยบาย และการบริหารรัฐบาลตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งก็คือกระบวนการทางการเมืองของพรรคการเมืองในประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคงและลงหลักปักฐานแล้วนั่นเองต้องทำให้การเข้ามาแทรกแซงหรือยึดอำนาจของสถาบันการเมืองที่ไม่ได้มากจากการเลือกตั้งหมดไป เพื่อให้ประชาชนสามารถคาดหวังกับการเลือกตั้ง หรือทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องจริงจัง และสามารถลงหลักปักฐานในการเมืองไทยได้อย่างแท้จริง

Q: การซื้อสิทธิ ขายเสียง ถือเป็นเรื่องชั่วร้ายในสังคมไทยหรือไม่?
A:ใช่ เพราะมันเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามการซื้อสิทธิขายเสียง ก็ควรได้รับการพิจารณาในแง่ของปัญหาทางการเมือง มากกว่าเรื่องความดีชั่วตามหลักศีลธรรม กล่าวคือ การซื้อสิทธิขายเสียงเป็นปัญหาที่ไม่ได้มาจากตัณหา ราคะ ความละโมบ หรือกิเลสส่วนบุคคล หากแต่เป็นปัญหาที่มีต้นตอมาจากโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาก่อนอยู่แล้วในสังคมไทย ตัวอย่างของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ว่าก็คือ พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนและมีนโยบายรูปธรรมมาเสนอให้กับประชาชน

Q: ความหมายและคุณค่า ของการเลือกตั้งในสังคมไทยคืออะไร?
A: การเลือกตั้งในความหมายของบริบทสังคมไทย คือ การที่พลเมืองได้ไปใช้สิทธิของตนเองเลือกตัวแทนซึ่งเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปทำหน้าที่แทนตน กระบวนการที่ว่านี้มีความสำคัญมากในบริบทสังคมไทยที่กิจการพลเรือนมักถูกแทรกแซงและพรากอำนาจไปโดยกองทัพและสถาบันการเมืองอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพ การเลือกตั้งคือการที่พลเมืองได้ไปใช้สิทธิของตนเองเลือกตัวแทนซึ่งเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองในสภาผู้แทนราษฎรและในรัฐบาล ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในสังคมหรือชุมชนทางการเมืองหนึ่ง ๆ ที่มีขนาดประชากรเป็นจำนวนมาก มันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พลเมืองทุกคนตัดสินใจในนโยบายสาธารณะในทุก ๆ เรื่อง หรือบริหารทรัพยากรและงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ และออกกฎหมายทุกฉบับด้วยตัวเอง
ดังนั้น ตามหลักการแบ่งงานกันทำในสังคมสมัยใหม่ตามระบบทุนนิยม การเลือกตั้งเป็นวิถีทางสำคัญที่เข้ามาช่วยให้พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศทำการเลือกคนส่วนน้อยไม่กี่คน ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนโยบายรัฐและเรื่องกฎหมายมากกว่าตนให้ได้เข้าไปทำหน้าที่แทน
แม้ความหมายของการเลือกตั้งตามที่กล่าวมาอาจจะฟังดูธรรมดา ไม่น่าสนใจอะไร แต่ในบริบทการเมืองไทย กระบวนการเลือกตั้งมีคุณค่าเป็นอย่างมาก เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อำนาจในการบริหารจัดการบ้านเมือง อำนาจในการออกฎหมาย และอำนาจยุติธรรม มักจะกระจุกตัวอยู่ในชนชั้นนำ ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ อำนาจเหล่านั้นมักกระจุกตัวอยู่ในมือของสถาบันทหาร สถาบันตุลาการ และสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้น แทนที่พลเมืองจะได้ปกครองตนเอง เลือกคนที่ตัวเองชื่นชอบและไว้ใจเข้าไปทำหน้าที่แทน และเลือกกลับไปทำหน้าที่ใหม่เมื่อวาระจบลง เป็นว่า ในหลายๆ ครั้ง ชนชั้นนำในการเมืองไทยกลับยึดอำนาจไปจากประชาชนคนส่วนใหญ่ แต่งตั้งตนเองให้อยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน และวางแผนที่จะสืบทอดอำนาจผ่านญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิด ในแง่นี้ การเลือกตั้ง—ซึ่งตรงกันข้ามกับการแต่งตั้งสรรหากันเองในหมู่สมาชิกของสถาบันทหาร สถาบันตุลาการ และสถาบันพระมหากษัตริย์—จึงมีคุณค่าเป็นอย่างมากสำหรับประชาชนคนไทย เพราะมันเป็นการบ่งบอกว่า พวกเขารู้ดีว่าพวกเขาต้องการตัวแทนประเภทไหนมาปกครองบ้านเมือง พวกเขามีอำนาจเป็นของตนเองในการเลือกคนที่ชื่นชอบเข้าไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภาและรัฐบาล และพวกเขาหมดความอดทนกับการปกครองผ่านการสรรหาแต่งตั้งกันเองในหมู่ชนชั้นชั้นนำไทย

Q: การเลือกตั้งเป็นปัจจัยส่งเสริมหรือขัดขวางบทบาทของภาคประชาสังคม อย่างไร?
A: การเลือกตั้งเป็นปัจจัยส่งเสริมประชาธิปไตย หากมีการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองหลากหลายพรรคลงแข่งขันสมัครรับเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม แสดงให้เห็นว่ามีการเปิดให้มีสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกลไกทางการเมืองต่างๆของระบอบประชาธิปไตยยังคงมีและดำเนินการอยู่ แต่หากมีการทำลายการเลือกตั้ง มีการรัฐประหาร สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกลิดรอน และกลไกการมีส่วนร่วมและตรวจสอบทางการเมืองต่างๆก็จะมีปัญหาตามมา กล่าวคือ ประชาธิปไตยในแต่ละด้านจะมีขึ้นได้ต้องมีการทำงานของด้านอื่นๆประกอบ การมีประชาธิปไตยด้านหนึ่งสามารถหนุนให้เกิดประชาธิปไตยด้านอื่นๆ ตามมาในทางตรงกันข้าม หากประชาธิปไตยด้านใดด้านหนึ่งถูกทำลายด้านอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย ทั้งการเลือกตั้งและการแสดงบทบาททางการเมืองของภาคประชาสังคมเป็นตัวแสดงออกถึงการมีประชาธิปไตยทั้งคู่
หากมีการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมย่อมแสดงให้เห็นว่ากลไกอื่นๆของระบอบประชาธิปไตยยังไม่ถูกทำลายกฎหมายที่วางอยู่ในหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาพของประชาชนยังคงอยู่ ดังนั้นภาคประชาสังคมซึ่งจะมีบทบาทได้ดีก็ต่อเมื่อกฎหมายให้การรับรองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาพทางการเมืองของประชาชน ก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองได้ตามปกติ เช่น ภาคประชาสังคมสามารถเคลื่อนไหวเพื่อเสนอและคัดค้านกฎหมายได้ และสามารถเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบการทำงานของผู้แทนทางการเมืองได้ เป็นต้น ซึ่งบทบาทดังกล่าวไม่สามารถทำได้เลยหากการเลือกตั้งถูกทำลาย การรัฐประหารและการตามมาด้วยการเกิดขึ้นของรัฐบาลเผด็จการเป็นตัวทำลายการเลือกตั้ง พร้อมทั้งนำมาสู่การทำลายหลักประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาพของประชาชน ส่งผลต่อการขัดขวางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาสังคม
ถึงแม้ว่าผู้แทนทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลจะมีการดำเนินการขัดขวางและลดบทบาทของภาคประชาสังคม แต่นั่นเป็นผลจากตัวบุคคลต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น มิใช่ตัวระบบการเลือกตั้ง การกล่าวกว่าการเลือกตั้งเป็นปัจจัยขัดขวางบทบาทของภาคประชาสังคมจึงไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังละเลยความสัมพันธ์ประชาธิปไตยด้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้นอีกด้วย
การเลือกตั้งและการแสดงบทบาททางการเมืองของภาคประชาสังคม เป็นตัวแสดงออกถึงการมีประชาธิปไตยทั้งคู่ หากมีการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมย่อมแสดงให้เห็นว่ากลไกอื่นๆ ของระบอบประชาธิปไตยยังไม่ถูกทำลาย กฎหมายที่วางอยู่ในหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาพของประชาชนยังคงอยู่ ดังนั้นภาคประชาสังคมซึ่งจะมีบทบาทได้ดีก็ต่อเมื่อกฎหมายให้การรับรองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาพทางการเมืองของประชาชน