Media >

Ep.1 “การเคลื่อนไหวคลื่นลูกใหม่ ไฟลามทุ่งหรือไฟไหม้ฟาง?”
117781740_1644894489004254_1100795405073680612_n

Interviews

Ep.1 “การเคลื่อนไหวคลื่นลูกใหม่ ไฟลามทุ่งหรือไฟไหม้ฟาง?”

เกรด A ยูเรก้า ช่องปั่นประสาทน้องใหม่ที่นำเสนอบทเรียน ความคิด การวิเคราะห์เรื่องการเมือง การเคลื่อนไหวภาคประชาชน และสิทธิเสรีภาพ ผ่านบทสัมภาษณ์นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่าง ๆ ทั้งจากฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ให้เป็นพื้นที่จุดประเด็นการถกเถียงเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่

Ep.1 “การเคลื่อนไหวคลื่นลูกใหม่ ไฟลามทุ่งหรือไฟไหม้ฟาง?” สัมภาษณ์ วันที่ 4 กรกฎาคม 2563

ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านวิธีการสร้างสรรค์และสันติวิธี วิดีโอคอลตรงจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พูดคุยกันในประเด็นของการเคลื่อนไหวทางสังคม การเมืองของเยาวชน นิสิตนักศึกษาในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตในช่วงต้นการสัมภาษณ์ อาจารย์ได้แสดงความเห็นว่าถ้าให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาสามารถต่อเนื่องแล้วก็ทวีคูณยกระดับไปได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่มาทริกเกอร์ความโกรธแค้น ความคับข้องใจเพิ่ม แล้วขบวนการนักศึกษาโดยลำพังนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อร้อยประสานกับกลุ่มการเคลื่อนไหว พลังทางสังคมอื่น ๆ ในสังคม เช่น กลุ่มภาคเศรษฐกิจหรือว่ากลุ่มชาวบ้านชาวนา

ถาม: พอเราพูดว่านักศึกษาเคลื่อนไหวแล้วมันชอบธรรมเพราะว่ามันมีความเป็น independent แต่ว่าในขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่ามันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้นักศึกษาไปเชื่อมต่อกับกลุ่มพลังอื่น ๆ ทางการเมือง แล้วในทางปฏิบัติ มันจะทำยังไง โดยการที่นักศึกษาจะไปเป็นเครือข่ายกับกลุ่มพลังทางสังคมอื่น ๆ โดยไม่ถูกลบความเป็นอิสระออกไป

ตอบ: อันนี้เป็น dilemma ความอิหลักอิเหลื่อเรื่องหนึ่ง นักศึกษาในสังคมไทยที่เป็นพลังบริสุทธิ์เนี่ย จริง ๆ แล้วบางทีก็เป็นมายาคติ เพราะว่านักศึกษาที่เคลื่อนไหวเนี่ยมีเป้าหมายทางการเมือง แล้วก็มีอุดมการณ์ทางการเมือง เอาเข้าจริง กลุ่มที่เราเห็นอยู่แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นกลุ่มก้อนเดียว ก็มีความคิดทางการเมืองที่หลากหลาย เพราะฉะนั้น ถามว่านักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ในลักษณะที่เราเข้าใจว่า ปราศจากการเมืองเลยมั้ย อันนี้เป็นมายาคติ

ถาม: หรือปราศจากกลุ่มก้อนทางการเมืองที่มีลักษณะจัดตั้งอยู่ข้างหลัง

ตอบ: ใช่ อันนี้เป็นมายาคติ เอาเข้าจริง ความเข้าใจว่านักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ดังนั้นเลยไม่มีการจัดตั้ง ดิฉันคิดว่าอันนี้เป็นเรื่อง เป็นความเข้าใจแบบ naïve คือมันหน่อมแน้ม คือไม่มีการประท้วงที่ไหนที่ไม่มีการจัดตั้ง การประท้วงที่ไม่มีการจัดตั้งคือการจลาจลค่ะ ดังนั้นถ้าคุณจะประท้วงให้อยู่ในระเบียบวินัย ใช้สันติวิธีมันต้องจัดตั้ง หมายความว่ามันต้องมีการวางแผน ต้องออกแบบ ต้องคุยกันว่าจะเอาอะไร และจะสร้างเครือข่ายอย่างไร ทีนี้ถามว่านักศึกษาจะไปต่อได้อย่างไร คือดิฉันคิดว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะขยายเครือข่ายกับชาวบ้าน แล้วก็มีกลุ่มนักศึกษาบางคนก็ออกสาธารณะ ออกสื่ออย่างที่พวกเราเห็น แต่ว่าจำนวนมากก็ทำงานเบื้องหลังในการขยายเครือข่ายในการชักจูงคน เพราะฉะนั้นเราเริ่มเห็นการเชื่อมโยงกับขบวนการเรื่องปากท้อง เรื่องทรัพยากร ในชุมชนที่อยู่นอกกรุงเทพ หลากหลายนะคะ แล้วก็จริง ๆ กลุ่มนักศึกษาที่อยู่ตามมหาวิทยาลัยภูมิภาคก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก อย่าลืมว่าไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาในกรุงเทพเท่านั้นที่มีบทบาท นักศึกษาที่อยู่ตามระดับภูมิภาคมีบทบาทในการเชื่อมโยงกับชุมชนที่มีปัญหารากหญ้าจริง ๆ เนี่ยมากกว่าซะด้วยซ้ำ ดิฉันเถียงว่าอย่างงี๊นะ อันนี้เรื่องที่หนึ่ง

“ดิฉันคิดว่าการเข้าใจการทำขบวนการประท้วงจริง ๆ ไม่ต่างอะไรกับการทำการตลาดมากนัก เพียงแต่ว่ามันมีความลึกซึ้งกว่าเรื่องเป้าหมายทางการเมือง ในแง่นี้เรากำลังจะหาลูกค้ากลุ่มใหม่ ลูกค้ากลุ่มนี้เค้ามีวัฒนธรรมที่ต่างจากลูกค้ากลุ่มเดิมของเรา จะทำอย่างไรให้แมสเสจของเราสื่อสารกับคนเหล่านี้ได้”

เรื่องที่สอง จริง ๆ กลุ่มที่เมื่อกี๊ที่คุณแตะนิดนึงก็คือ กลุ่มธุรกิจ กลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งเราอาจจะต้องขยายความกันต่อไป แต่ว่า ณ จุดนี้ ดิฉันคิดว่ากลุ่มเหล่านี้สำคัญ แล้วก็เป็นกลุ่มที่ยังปราศจากการชักจูงอย่างจริงจัง คือกลุ่มเหล่านี้ ดิฉันคิดว่ามีความไม่พอใจ

กลุ่มเหล่านี้มีความไม่พอใจต่อนโยบายการไร้ประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องเศรษฐกิจ แล้วก็มีความรู้สึกอึดอัดว่าการเปลี่ยนแปลงทำไมมันช้า เพราะฉะนั้นกลุ่มเหล่านี้เรียกง่าย ๆ ว่ายังเป็นตลาดที่ยังไม่มีใครไปจับจอง ฉะนั้นคือจะทำอย่างไรให้นักศึกษาไปพ้นจากกลุ่มลูกค้าเดิม ๆ คือกลุ่มชาวบ้าน กลุ่มผู้รักประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าเรื่องที่จะทำให้ไปถึงได้ก็คือการปรับแมสเสจของแคมเปญ ปรับข้อความในการนำเสนอตัวเอง ดิฉันคิดว่าการเข้าใจการทำขบวนการประท้วงจริง ๆ ไม่ต่างอะไรกับการทำการตลาดมากนัก เพียงแต่ว่ามันมีความลึกซึ้งกว่าเรื่องเป้าหมายทางการเมือง

ในแง่นี้ เรากำลังจะหาลูกค้ากลุ่มใหม่ ลูกค้ากลุ่มนี้เนี่ยเค้ามีวัฒนธรรมที่ต่างจากลูกค้ากลุ่มเดิมของเรา จะทำอย่างไรให้แมสเสจของเราสื่อสารกับคนเหล่านี้ได้ พูดเร็ว ๆ ตรงนี้ก็คือว่า ชนชั้นกลางสนใจเรื่องอะไร ชนชั้นกลางเอาเข้าจริงสนใจ rule of law สนใจเรื่องภาษี ใช่มั้ยคะ ภาษีของเราจะเอาไปทำอะไร มีบางส่วนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการคอรัปชั่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าภาษาเนี้ยเป็นภาษาที่นักกิจกรรมจำนวนมากไม่กล้าใช้ เพราะว่ามันไปซ้ำกับกลุ่มบางกลุ่ม เช่น กปปส. หรือว่าพันธมิตร เป็นต้น แต่ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสำรวจว่าจะทำอย่างไรให้เราดึงเรื่องประชาธิปไตยหรือว่าเรื่องความยุติธรรมทางเศรษฐกิจมาเชื่อมโยงกับประเด็นที่ชนชั้นกลางหรือว่านักธุรกิจสนใจได้

ถาม: ถ้าอาจารย์บอกว่าถ้าหากนักศึกษาจะต้องเป็นผู้ประสานสิบทิศเนี่ย มีอยู่ 3 ตลาดใหญ่ ๆ ที่นักศึกษาจะต้องลงไปแข่งขัน คือผมจะแยกว่าเป็นตลาดของชาวบ้าน ตลาดของเครือนักศึกษาด้วยกันเอง และชนชั้นกลางนะครับ จะถามอาจารย์ว่าใน 3 ตลาดนี้ อะไรคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่จะทำให้นักศึกษาทำงานได้ยากขึ้นในการร้อยประสานกลุ่มพลังพวกนี้

ตอบ: มีหลายเรื่องมาก ดิฉันเริ่มจากภายในขบวนการนักศึกษาก่อนนะ เริ่มจากภายในกลุ่มแล้วค่อยขยายออกไป ภายในนักศึกษาเองก็มีความหลากหลายอย่างที่บอกไป ดิฉันเข้าใจว่ามีความพยายามจะสร้างความหลากหลายภายในการเคลื่อนไหว แต่ว่าอย่างที่บอกไปก็คือ การเคลื่อนไหวมันจะมีพลังต่อเมื่อมันมีเอกภาพบางลักษณะ ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องคิดเหมือนกัน เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เรารวมเอาความหลากหลายมาอยู่ในประเด็นหลักของทางการเคลื่อนไหวได้ เพราะฉะนั้นอันนี้จะต้องจัดการ

อันที่สอง ขยายออกไปก็คือกลุ่มประชาชนทั่ว ๆ ไปนี้ก่อนแล้วกัน ที่เป็นผู้เดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ปัญหาหลักคือความเสี่ยงในการเข้าร่วมขบวนการ เพราะว่าการใช้กฎหมายเพื่อเล่นงานผู้ท้าทายอำนาจรัฐเป็นเรื่องซีเรียสสำหรับคนที่ไม่มีตังค์และเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาล คนที่ต้องทำมาหากินทุกวัน อันเนี้ยเป็นเรื่องซีเรียสนะคะ เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่เค้าจะเข้าร่วมขบวนการแล้วไม่มีเบาะรองรับเหมือนนักศึกษามีค่อนข้างสูง จะทำอย่างไรให้จัดการความเสี่ยงนี้ได้ แล้วก็ความกลัวที่จะเข้าร่วมขบวนการเนี่ยมันน้อยลง ดิฉันคิดว่าตอนหลังเนี่ยเริ่มได้ยินคนพูดมากขึ้นเพราะว่าตอนนี้เศรษฐกิจมันไม่ดีจริง ๆ แล้วคนเริ่มรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้ว มีความคิดแบบนี้เกิดมากขึ้น ดังนั้นจะทำอย่างไรให้วิธีคิดแบบนี้มันปรากฎมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็ทำให้คนรู้สึกว่าความเสี่ยงที่เค้าจะต้องรับจากการเข้าร่วมกิจกรรมเนี่ยมันมีคนช่วยเหลือ มีการรองรับ เช่น มีทนายความที่จะช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้ามั้ย มีกองทุนนักโทษทางการเมืองที่มีทุนมากเพียงพอมั้ย อะไรอย่างเงี้ย อันนี้ก็เป็นเรื่องของ resource เหมือนกันนะคะ ต่อไปเนี่ยซึ่งจริง ๆ เชื่อมโยงกันก็คือกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มชนชั้นกลางที่จริง ๆ สองกลุ่มนี้ก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันเท่าไหร่ ดิฉันเอาไว้ในกลุ่มก้อนเดียวกันก็คือ พวกเราเนี่ยแหละ เอาเข้าจริงแล้ว

คือดิฉันมีเพื่อนที่เป็นชนชั้นกลางทั่ว ๆ ไปทำงานอยู่สีลม แล้วก็ไม่เคยเห็นด้วยเลยกับการเคลื่อนไหวของ นปช. ไม่ชอบด้วยซ้ำเพราะว่าผ่านประสบการณ์ตรงสีลมมา แต่ว่าตอนหลัง เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ แล้วก็รู้สึกถูกใจกับภาพลักษณ์ของพรรค ดิฉันรู้สึกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจก็คือ ขบวนการอย่างที่บอกว่ามันมีความหลากหลาย จะทำอย่างไรให้มีเอกภาพเรื่องหนึ่ง แต่ว่าขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้ภาพลักษณ์ที่หลากหลาย ทางหนึ่งมันเป็นประโยชน์ในการดึงดูดคนที่เค้าไม่คิดจะเข้าร่วมถ้าหน้าตาของขบวนการเป็นแบบหนึ่ง นึกออกมั้ยว่าคนเหล่านี้ คนที่อยู่แถวสีลม คนที่มีวิถีชีวิตในเมือง เค้ามีความคาดหวังที่ต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นเค้าอยากจะอยู่ในขบวนการที่มีหน้าตาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งดิฉันคิดว่าสิ่งที่อนาคตใหม่หยิบยื่นให้ ถ้าไม่รวมหลายเรื่องที่ถูกปั่นเป็นกระแสโดยสื่อฝ่ายขวา ดิฉันคิดว่าอนาคตใหม่คือพรรคชนชั้นกลาง แล้วก็เป็นชนชั้นกลางก้าวหน้าในแง่ภาพลักษณ์ คือเอาเข้าจริงอันตรายของอนาคตใหม่ไม่ได้อยู่แค่ที่ประเด็นทางการเมืองที่เค้าเคลื่อนไหวแต่ว่าภาพลักษณ์ของพรรคที่มันน่าดึงดูด

เพราะฉะนั้นเนี่ย ทำอย่างไรให้ขบวนการเคลื่อนไหวมันมีหลายหน้าตาซึ่งดึงดูดลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อย่างชนชั้นกลางเนี่ย แน่นอนถ้าคุณใส่เสื้อม่อฮ่อม แต่งตัวโทรม ๆ มาเคลื่อนไหว แล้วก็มาเย้ว ๆ แถวถนน นี่ไม่ใช่จริตชนชั้นกลางแล้วเราก็ไปว่าเค้าไม่ได้ อย่างที่บอกว่าในสังคมเราต้องเข้าใจเรื่องฐานของสังคมว่ามีกลุ่มแบบไหน แล้วเราจะเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ที่ต่างกันได้อย่างไร

ถาม: เวลาเราพูดถึง การออกแบบแคมเปญยังไงให้ดึงดูดคนส่วนมาก ผมว่ากรณีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงประสบความสำเร็จ เพราะว่ามันเป็นปรากฏการณ์ วิ่งกันเกือบทั่วประเทศ ไม่ได้มีแต่เสื้อแดงหรือนักศึกษา เราจะเห็นเลยว่าสีมันไม่เหมือนเดิมแล้ว งานนี้นี่คือสีชมพู ฟ้า ตัวการ์ตูนเต็มไปหมด จริง ๆ แล้วภายในขบวนการการเคลื่อนไหว ถ้าเราจะดูแบบรวม ๆ มันคงจะปะปนไปด้วยคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มีความพยายามที่จะออกแบบอะไรแบบที่อาจารย์พูดมาว่าให้ดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ เยอะ แต่ข้อสงสัยของผม อาจจะเป็นเพราะว่าภายในขบวนการเองก็มีการช่วงชิงการนำของแต่ละกลุ่มแต่ละ individual ด้วยในเวลาเดียวกัน แล้วก็เป็นปัญหาที่ไม่เคยจะตกเลยแม้แต่ในขบวนการนักศึกษาที่เล็กลงมาแล้วรวมประกอบไปด้วยหลายมหาวิทยาลัยก็มีการช่วงชิงการนำ คราวนี้ในระดับของแต่ละกลุ่มในระดับประเทศอีก ก็คงจะต้องมีการช่วงชิงการนำ ถ้าใครนำได้ก็คงจะมีอำนาจในการตัดสินใจว่าเราเคลื่อนไหวเรื่องนี้ แคมเปญของเราหน้าตาจะเป็นอย่างไร อาจารย์คิดว่าจะต้องแนะนำกับกลุ่มการเคลื่อนไหวยังไง อาจารย์คิดว่ามันเป็นไปได้มั้ยในการที่เราจะมา organize กันชัดเจนว่าใครรับพาร์ทอะไรไปโดยไม่มีคำสั่งมาจาก committee ของขบวนการเคลื่อนไหว

ตอบ: คือดิฉันเข้าใจประเด็นแล้วก็พอเห็นปัญหานะ คือโจทย์ใหญ่ตอนนี้คือ เราจะใช้ประโยชน์จากความหลากหลาย แล้วก็การเรียกว่าช่วงชิง ใช้คำของคุณแล้วกัน การช่วงชิงตำแหน่งแห่งที่นำในขบวนการ ดิฉันคิดว่าอันนี้คือการนำ leadership การนำ คำสำคัญคือการนำ ขบวนการเคลื่อนไหวไม่มีการนำไม่ได้ มันต้องมี ในแง่นี้ leadership มันต้องมี เพราะไม่งั้นมันเจ๊ง ในแง่ที่สุดท้ายแล้ว สมมติว่าเราต้องเคลื่อนในระดับที่มีการต่อรองกับผู้มีอำนาจหรือว่าต้องมีการเชื่อมโยงกับฝ่ายนโยบายเพื่อที่จะหาพันธมิตรในสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ มันต้องมีแกนนำ ไม่งั้นใครจะไปเป็นตัวแทนกลุ่มถูกมั้ยคะ แต่ประเด็นคือ จะนำแบบไหน ช่วงหลังเนี่ย การนำแบบเดิมมันเรียกว่าเป็นการนำแนวดิ่ง ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเช่น พรรคคอมมิวนิสต์ ขบวนการแรงงาน ขบวนการแบบเก่า การนำแบบดิ่งก็มีคณะกรรมาธิการ มีการออกแบบ มีคำสั่งที่ชัดเจน ขบวนการเคลื่อนไหวแบบใหม่มันเริ่มมีการนำแบบที่คุณสมบัติเรียกว่า แกนนอน คือไม่ใช่แกนนำ แกนนอนนี่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีแกน แต่แกนนอนคือการนำแบบแนวระนาบ คือคุณมีแกนนำที่เป็น collective หมายความว่าไม่ใช่มีผู้นำเพียงคนเดียว แต่เรามีกลุ่มผู้นำซึ่งอาจจะผลัดกันขึ้นมาทำหน้าที่เป็นโฆษกของกลุ่ม โฆษกนะ ไม่ใช่แกนนำ คือมันต้องมีหน้าตา มันต้องผลัดกันขึ้นมาเป็นโฆษกของกลุ่ม

“พื้นที่อินเตอร์เน็ตเนี่ยมันเป็นพื้นที่ที่ประชาธิปไตยแล้วก็กระจายอำนาจในการตัดสินใจสุด ๆ คือมันยากมากในการออกคำสั่งในขบวนการเคลื่อนไหว ณ บริบทปัจจุบันที่มันมีเครื่องมือในการเป็นอิสระจากอำนาจเยอะ เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าเมื่อแกนนำยังสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ในแนวไหน การมีแกนเนี่ยมันทำให้ขบวนการมันเคลื่อนได้ จะทำอย่างไรให้แกนเนี้ยมันปรับสภาพเข้ากับบริบทร่วมสมัยที่มันกระจายอำนาจอ่ะ คนมันมี autonomy เยอะขึ้นนะ”

อันที่สองก็คือ การตัดสินใจ ต้องเป็นลักษณะกระจายอำนาจในแง่ที่สมมติว่าคุณมีกลุ่มหนึ่งเนี่ย สามารถทำงานกับกลุ่มชาวบ้านได้ อีกกลุ่มหนึ่งทำงานกับชนชั้นกลางในเมืองได้ อีกกลุ่มหนึ่งทำงานกับกลุ่มธุรกิจได้ กลุ่มหนึ่งทำงานกับฝ่ายนโยบายได้ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้ต้องแยกกันทำงาน แต่ว่ามี head ที่ชัดเจนของแต่ละกลุ่ม ซึ่ง head เหล่านี้สามารถมีบทบาทการตัดสินใจทิศทางการเคลื่อนไหวของขบวนการได้ เป็นต้น อันนี้คือการนำแบบแนวระนาบ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ กิจกรรมที่ทำเนี่ยช่วงหลังมานี้มันคล้าย ๆ ขบวนการหลายที่ สมมติว่าคุณมีกลุ่มที่ขอนแก่น กลุ่มที่กรุงเทพไม่ควรจะบอกว่าขอนแก่นควรทำอะไร กลุ่มที่กรุงเทพเนี่ยอาจจะร่วมกับแกนนำที่อื่น ๆ สามารถกำหนดกรอบอย่างเช่น แมสเสจที่เราจะเคลื่อนไหวร่วมกัน เรามีสโลแกนว่าอะไร กรอบใหญ่ของการเคลื่อนไหวคืออะไร แต่ว่ากลุ่มที่ขอนแก่นควรจะมีอำนาจในการออกแบบกิจกรรม ตัดสินใจแล้วก็เลือก target เลือกประเด็นที่เค้าจะเล่นตามบริบทท้องถิ่น มันควรจะเป็นลักษณะการเคลื่อนไหวแบบใหม่ที่ยากในการประสานจริง ความขัดแย้งมีเยอะจริง ช้าจริง แล้วก็มีคนมีปัญหาในหลายที่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ที่เราอย่างเดียว แต่ว่ามันยังต้องมีการนำ

ถาม: อาจารย์คิดว่าอันนี้ควรจะเป็น choice เดียวมั้ยในการเลือกว่าเราจะ lead ขบวนการแบบไหน เราคงไม่กลับไปในรูปแบบของจัดตั้งแบบเก่า แบบจัดตั้งบอกซ้ายขวายังไงแล้วใช่มั้ยครับ แต่อย่างที่อาจารย์ recognize ว่ามันยากมากเพราะว่าหลาย ๆ ม็อบ หลาย ๆ ที่ก็จะมีคอมเม้นต์ว่าทำไมเอาคนปราศรัยคนนี้ขึ้น คนพูดนุ่ม ๆ กว่านี้ไม่มีหรอ แต่ในความเป็นจริงไอ้คนที่ขึ้นไปปราศรัยพอดีว่ามีอำนาจในการตัดสินใจอยู่พอดิบพอดี ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องในเชิงของ organize แล้วมันน่าจะเป็นอะไรที่ยากมากในการที่จะเคลื่อนไปพร้อมกันโดยที่ไม่มีบอร์ดจัดตั้งใหญ่ที่มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่ง

ตอบ: เอางี๊นะ ถ้าคุณมีบอร์ด คุณสั่ง ใครฟัง นึกออกมั้ย คือมันไม่ใช่ คือเรากำลังคิดถึงรูปแบบการจัดตั้งแบบนี้มันเก่า ในแง่ที่มันเป็นกองทัพ คือมันคิดแบบกองทัพใช่มั้ยคะ มีลำดับชั้นที่ชัดเจน มี commander ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในโลกที่เอาแค่ตัวอย่างง่าย ๆ พื้นที่อินเตอร์เน็ตเนี่ยมันเป็นพื้นที่ที่ประชาธิปไตยแล้วก็กระจายอำนาจในการตัดสินใจสุด ๆ สมมติว่าแกนนำออกคำสั่งมาว่า แกไม่ควรจะพูดเรื่องนี้ในทวิตเตอร์ คุณคิดว่ามีคนฟังมั้ย คือมันยากมากในการออกคำสั่งในขบวนการเคลื่อนไหว ณ บริบทปัจจุบันที่มันมีเครื่องมือในการเป็นอิสระจากอำนาจเยอะ เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าเมื่อแกนนำยังสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ในแนวไหน การมีแกนเนี่ยมันทำให้ขบวนการมันเคลื่อนได้ จะทำอย่างไรให้แกนเนี้ยมันปรับสภาพเข้ากับบริบทร่วมสมัยที่มันกระจายอำนาจอ่ะ คนมันมี autonomy เยอะขึ้นนะ

ถาม: งั้นพูดได้มั้ยว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่ขบวนการเคลื่อนไหวจำเป็นที่จะต้องมีลักษณะการนำแบบ horizontal มากขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่ยากมาก แต่ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เราก็ไม่ได้อยู่ในยุคที่สามารถกลับไปอยู่ในระบบการจัดตั้งแบบพรรค แบบเลนินได้แล้วแบบนี้ใช่มั้ยครับ
ตอบ: ค่ะ ทำไม่ได้ค่ะ เอาเข้าจริงถ้าคุณดูฝ่ายซ้ายที่ไม่ใช่รัฐบาลนะ ฝ่ายซ้ายในหลายประเทศเนี่ยก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้แล้ว แล้วก็ labour union สหภาพแรงงานหลายที่ ถ้าคุณจัดตั้งแบบเก่าได้แสดงว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรัฐ

ในตอนต่อไป เราจะมาฟังความเห็นของ อ. จันจิราต่อในประเด็นการรับมือความรุนแรงในการชุมนุม จินตนการและความคิดสร้างสรรค์ ความหลากหลายของการชุมนุม การช่วงชิงความหมายในการเคลื่อนไหว และอื่น ๆ ติดตามตอนที่ 2 ได้เร็ว ๆ นี้ ที่นี่ www.facebook.com/weareonwatch และ www.wewatchthailand.org

Was this useful?

Thanks for your feedback

You could also be interested in

Focus

Digital Election Analytic Lab (DEAL) หรือ โครงการติดตามเเละวิเคราะห์กระบวนการเลือกตั้งในโซเชียลมีเดีย เป็นกระบวนการสืบเนื่องที่พัฒนามาจากหลักการและกรอบแนวคิดของจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ ลงนามร่วมกันโดยพรรคการเมืองจำนวน 30 พรรค

Focus

LIVE แถลงการณ์ ความเห็นต่อการเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้า-นอกเขต วันที่ 7 พ.ค. 2566 .โดยเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ปี 2566 . ณ ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ 1 สถาบันไทยคดีศึกษา ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

Interviews

“ผมรู้จักกับกลุ่ม We Watch ก่อนเลือกตั้งปี 2562 สักระยะ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งจากนักศึกษา เพื่อมาสังเกตและจับตาการเลือกตั้ง ทั้งก่อนเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ช่วงนั้นผมเรียนอยู่ ม.เกษตร ทำกิจกรรมนักศึกษาอยู่แล้ว เลยมาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของการเลือกตั้งครั้งนั้น ผมโอนสิทธิจากชุมพรมาเลือกตั้งล่วงหน้าที่กรุงเทพฯ หน่วยนั้นอยู่ใกล้กับราบ 11

Focus

เว็บลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. ล่ม คาดมีประชาชนได้รับผลกระทบนับแสน กกต. สมควรจะขยายระยะเวลาการลงทะเบียนเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหา