
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ณ อาคารรัฐสภา We Watch ประชุมกับคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับผู้แทนคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และกลุ่ม ELECT เพื่อชี้แจงความเห็นการประเมินการเลือกตั้งที่ผ่านมา และการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งซ่อมและการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เกิดความสุจริต เที่ยงธรรม
เครือข่าย We Watch ให้ความเห็นหากดูว่าการเลือกตั้งว่าดีไม่ดีบริสุทธิ์ยุติธรรมดูหรือไม่นั้น จะดูแค่เรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างเดียวไม่ได้ ควรดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ จากการศึกษาของ We Watch พบว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นจุดหนึ่งของวงจรการเลือกตั้ง โดยหลักจะมี 3 ช่วง คือ ก่อนเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง หากเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งจะต้องดูประเด็น เช่น กรอบกฎหมาย รัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การแบ่งเขต การวางแผนงบ การจัดการของ กกต. รวมไปถึงการอบรม กปน. การให้ข้อมูลแก่ ประชาชน ซึ่งการซื้อสิทธิ์ขายเสียงจะอยู่ในช่วงนี้คือก่อนเลือกตั้ง ส่วนวันเลือกตั้งจะดูเรื่องการลงคะแนน การนับคะแนน สำหรับหลังเลือกตั้งจะเป็นการดูเรื่องร้องเรียน
หากถามว่าการเลือกตั้งดีไม่ดี ควรปรับปรุงส่วนไหน ควรสนับสนุนส่วนไหนที่ดีอยู่แล้ว คงไม่ได้ดูแค่เรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่จะดูทั้งวงจรทั้งหมดตามที่ได้กล่าวไว้ สำหรับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และการเลือกตั้งซ่อมนครปฐม 23 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นเรื่องโชคดีเหมือนกันที่ทำให้สังคมถกเถียงเรื่องการเลือกตั้งมากขึ้นกว่าเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เช่น การถกเถียงกันถึงปัญหากรอบกฎหมาย การแบ่งเขตเลือกตั้ง หากจะประเมินควรดูทั้งวงจร ดูความ Free Fair ในแต่ละช่วง (รายงานสังเกตการณ์การเลือกตั้ง We Watch)
ส่วนปัญหาเพิ่มเติมเชิงเทคนิคในการจัดการเลือกตั้ง ระบบการจัดส่งระบบขนคะแนนแบบ real time หรือ rapid report ทางเครือข่าย we watch เสนอว่าหากจะนำมาใช้ควรมีการเช็ค ทดสอบก่อนว่าใช้ได้ผลหรือไม่ มีประสิทธิภาคแค่ไหน และต้องสามารถตรวจสอบคะแนนแบบคู่ขนานได้จากภาคประชาชน ทั้งยังทำให้ภาพของการเลือกตั้งออกมาดี เพราะเปิดโอกาศให้มีส่วนร่วม ต่อเรื่องงบประมาณในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าใจว่า กกต.ไม่ได้จัดสรรส่วนนี้ไว้ ควรจะต้องมี รวมถึงการพัฒนาหน่วยเลือกตั้งสำหรับผู้ที่ไม่สามารถมาใช้สิทธิ์ได้เช่น คนพิการ คนป่วย อาจจะต้องมีหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ ( mobile polling stations) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอย่างอิสระ
หากให้เปรียบเทียบเรื่องการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งจากภาคประชาชนกับต่างประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย ศรีลังกา ของประเทศไทยต้องยอมรับว่ายังมีน้อยเพราะเรายังขาดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง ควรมีเวทีระดมความคิดเห็นจากประชาชน รับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคมว่าควรปรับปรุงส่วนไหนบ้าง อยากทำอะไรบ้าง เพื่อสร้างการมีส่วนรวมของภาคประชาสังคมให้มากที่สุด
สุดท้ายประธานที่ประชุมได้สรุปความเห็นจากผู้เข้าร่วมและกรรมาธิการดังนี้
1.สิ่งที่ กกต.สามารถทำได้ทันทีคือการเปิดเผยข้อมูลการเลือกตั้ง(ผลคะแนนหน้าหน่วย)โดยไม่จำเป็นต้องรอการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า แต่เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อความชัดเจนโปร่งใสในการทำงานของ กกต.
2.กฎหมายหลายฉบับที่ต้องมีการทบทวนเพื่อทำให้การดำเนินงานของ กกต.มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะหารือกับกรรมาธิการต่อว่าจะทำให้ลึกซึ้งมากขึ้นอย่างไร
3.ควรมีการเพิ่มสิทธิความชอบธรรมให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐ
4.ควรมีเวทีถกเถียงเพื่อนำเสนอให้แก่ทุกภาคส่วนเห็นร่วมกันว่ากติกาการเลือกตั้งที่ภาคประชาชนและพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันว่าควรเป็นอย่างไร เรื่องนี้สามารถทำได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอมติ ครม. และเมื่อ ครม.มีมติก็จะสามารถเสนอได้ว่าเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนต้องการ
5.สำหรับบทเรียนการเลือกตั้งที่ผ่านมาอยากให้กำลังใจ กกต. คาดว่าภายในเดือนธันวาคมน่าจะมีความชัดเจนจาก กกต. สำหรับการเลือกตั้งซ่อมและการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น หากมีปัญหาอีกก็แสดงว่าการถอดบทเรียนที่ผ่านมาอาจจะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่
6.หากได้บทเรียนแล้วอยากให้มีเวทีร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งรอบต่อไปดีขึ้นโดยที่ กกต.ไม่ต้องรับผิดชอบภารกิจไว้นี้เพียงลำพัง